'ไทย-เมียนมา' เจรจาความร่วมมือจ้างแรงงานประมงทะเลตามเอ็มโอยู

'ไทย-เมียนมา' เจรจาความร่วมมือจ้างแรงงานประมงทะเลตามเอ็มโอยู

รมว.แรงงาน เผยผลเจรจาความร่วมมือนำเข้าแรงงานประมงตามเอ็มโอยู "ไทย-เมียนมา" ชื่นมื่น กระชับความร่วมมือจ้างแรงงานประมงทะเล เป็นแนวปฏิบัติตามกฎหมายที่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการประชุมหารือร่วมกับนายเต็งส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานว่าเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ เดินทางไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานกับนายเต็งส่วย (H.E.U Thein Swe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ กระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งจากการเจรจาที่ประชุมเห็นชอบให้นำเข้าแรงงานตาม MOU จากประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ฝ่ายไทยจะดำเนินการต่ออายุแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยจะอนุญาตคราวละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร การดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม -
30 กันยายน 2561 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล

สำหรับแรงงานที่ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล เอกสารเดินทาง ซึ่งเอกสารดังกล่าวยังมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 90 วัน จะเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรและพิจารณาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการอนุญาตให้แรงงานทำงานได้ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมงพ.ศ. 2558

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายเมียนมาแจ้งว่าจะส่งทูตมาดูแลแรงงานในประเทศไทย พร้อมย้ำว่าจะอบรมให้ความรู้แก่แรงงานเมียนมาเกี่ยวกับกฎหมาย วัฒนธรรม การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยก่อนจะเข้ามาทำงานในไทย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ทำให้ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง และได้รับความคุ้มครองตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งฝ่ายเมียนมาชื่นชมรัฐบาลไทยที่ดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย