พณ. เผยยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจเดือน ก.ค.61 ลดลง 0.3%

พณ. เผยยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจเดือน ก.ค.61 ลดลง 0.3%

"อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า" เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือน ก.ค.61 อยู่ที่ 5,964 ราย ลดลง 0.3% คาดทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายจัดตั้งใหม่ 8 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.61 นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจเดือนกรกฎาคม 2561 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,964 ราย ลดลง 0.3% เทียบกับกรกฎาคม 2560 โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 2.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 7 เดือน (มกราคม กรกฎาคม 2561) มีจำนวน 4.35 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 516 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9% ของประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั้งหมด รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 322 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 204 ราย คิดเป็นสัดส่วน 3%

ขณะที่การจดทะเบียนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวน 1,688 ราย เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับกรกฎาคม 2560 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 6,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.75% ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกกิจการช่วง 7 เดือน (มกราคม –กรกฎาคม 2561) มีจำนวน 7,977 ราย ลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรกในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 148 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9% ของประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการ รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 115 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 56 ราย คิดเป็นสัดส่วน 3%

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั้งปี 2561 คาดว่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 8 หมื่นราย ซึ่งเป็นไปตามทิศทางสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐในระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการวางแนวทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ต่อไป

นอกจากนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น มีวงเงินกู้สูงขึ้น ได้รับการลดหย่อนภาษี เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพิ่มโอกาสได้ลูกค้ารายใหม่ รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31กรกฎาคม 2561) จำนวน 7.06 แสนราย มูลค่าทุน 17.85 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 1.84 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 26.06% บริษัทจำกัด จำนวน 5.20 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 73.77% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,207 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.17%

ด้านธุรกิจที่ดำเนินกิจการปัจจุบันเมื่อแบ่งตามช่วงทุน พบว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจมีช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 6.24 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 88% รวมมูลค่าทุน 1.02 ล้านล้านบาท รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 6.76 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 10% รวมมูลค่าทุน 1.82 ล้านล้านบาท และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 1.44 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 2% รวมมูลค่าทุน 15.01 ล้านล้านบาท