สั่ง รพ.จิตเวชพร้อมรับมือพายุ ใช้ 'เทเลเมดิซีน' รักษาผู้ป่วย

สั่ง รพ.จิตเวชพร้อมรับมือพายุ ใช้ 'เทเลเมดิซีน' รักษาผู้ป่วย

กรมสุขภาพจิต สั่ง รพ.จิตเวชพร้อมรับมือ "พายุ เบบินคา" ใช้เทเลเมดิซีนรักษาผู้ป่วยจิตเวชบนพื้นที่สูง ลดอุปสรรคเดินทาง

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อนเบบินคา ( BEBINCA) ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นทั้ง 4 ภาคตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า กรมสุขภาพจิตได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวช 20 แห่ง ทั่วประเทศซึ่งมีครอบคลุมทุกภาค ดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล ซึ่งทุกแห่งได้จัดการไว้ล่วงหน้าแล้ว สามารถให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยทางใจ โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินเช่นคุ้มคลั่ง อาละวาดเป็นต้น ตลอด 24 ชั่วโมง 2.ให้จัดระบบการตรวจสอบคนไข้ที่จิตแพทย์นัดติดตามผลการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอาการกำเริบจากการขาดยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกล หรือพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งจะเดินทางยากลำบากกว่าพื้นที่อื่น และ3.จัดเตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทหรือทีมเยียวยาใจพร้อมยาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตอีก 13 แห่ง เพื่อสนับสนุนทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทในพื้นที่ในการดูแลจิตใจผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า หากผู้ป่วยจิตเวชเกิดการเจ็บป่วยจากโรคที่มักเกิดในฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคอุจจาระร่วง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยผู้ป่วยหรือญาติควรแจ้งแพทย์ที่ตรวจทราบด้วยว่ามียาทางจิตเวชกินประจำและต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยจิตเวชสามารถกินที่แพทย์สั่งให้การรักษาร่วมกันได้ ไม่ต้องหยุดกินยาจิตเวชที่กินประจำแต่อย่างใด ไม่มีปัญหายามีปฏิกิริยาต่อกัน ทั้งนี้เพื่อผลในการควบคุมการทำงานของสมองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) สวนปรุง จ.เชียงใหม่กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นโซนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเบบินคา ได้กำหนดแนวทางเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชมียากินตลอดโดยให้คำแนะนำผู้ป่วยทุกรายเรื่องการเก็บยาระหว่างเดินทาง การเก็บยาที่บ้านที่ป้องกันยาเปียกน้ำหรือยาชื้นในช่วงฝนตกหนัก ในบางรายจำเป็นต้องจัดยาให้มากกว่าปกติและรายที่ได้รับยามากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ทางเภสัชกรจะใส่สารดูดความชื้นไว้ในซองยาให้ด้วย เพื่อป้องกันยาชื้น ขณะเดียวกัน รพ.สวนปรุงได้นำระบบเทเลเมดดิซีน (Telemedicine) หรือการแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มาใช้เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือประมาณร้อยละ 80 จะเป็นพื้นที่สูง การเดินทางในฤดูฝนจะยากลำบาก ใช้เวลานานกว่าฤดูกาลอื่นๆ จากปกติ 4 ชั่วโมงเป็น 6 ชั่วโมง

ทั้งนี้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาทั้งด้านการเข้าถึงบริการผู้ป่วยจิตเวชและป้องกันปัญหาการขาดยา โดยมีระบบการสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างรพ.สวนปรุงกับรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล เริ่มแห่งแรกที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาต่อเนื่องจากแพทย์เฉพาะทางตามวันเวลา นัดหมาย ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถมองเห็นกัน พูดคุยซักถามอาการกันได้อย่างชัดเจน ลดค่าใช้จ่ายเดินทางทั้งแพทย์เชี่ยวชาญและผู้ป่วย

นายแพทย์ธรณินทร์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลพบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ป่วยจิตเวชในต.บ้านใหม่และตำบลแม่ตื่นที่อยู่ใกล้เคียงที่มีประมาณ 50 คน ซึ่งร้อยละ 50 ป่วยเป็นโรคจิตเภท รองลงมาคือโรคซึมเศร้ามีร้อยละ 30 และติดสุราร้อยละ 20 สามารถอยู่ในชุมชนได้ ไม่มีปัญหาขาดยา โดยระบบเทเลเมดดิซีนนี้สามารถเปิดใช้ได้ในกรณีมีความจำเป็น เช่นถนนเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด เป็นต้น ในเดือนหน้านี้ทีมจิตแพทย์เชี่ยวชาญจะลงติดตามประเมินผู้ป่วยในพื้นที่ที่อยู่ในโครงการด้วย และในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะขยายผลในจ.เชียงใหม่ เพิ่มอีก 2 แห่งคือ ที่เรือนจำอ.แม่แตง และรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่นาจร อ.แม่แจ่ม โดยผู้ป่วยสามารถเบิกค่ารักษาได้ตามสิทธิ์ทุกประการ