กุนซือคนใหม่สหรัฐย้ำเดินหน้าดัดนิสัยอิหร่าน

กุนซือคนใหม่สหรัฐย้ำเดินหน้าดัดนิสัยอิหร่าน

มีเป้าหมายเพื่อยุติปัญหาการเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ สนับสนุนก่อการร้าย และกักขังชาวอเมริกันของรัฐบาลเตหะราน

นายไบรอัน ฮุก ผู้แทนพิเศษคนใหม่ดูแลด้านอิหร่านของรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวภายหลังได้รับการแต่งตั้งจากนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐว่า จะเน้นทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของอิหร่านในเรื่องต่างๆทั่้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายและการกักขังชาวอเมริกันเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ นายฮุก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีม “อิหร่าน แอคชั่น กรุ๊ป” ยืนยันว่า ภาระกิจหลักคือการทำงานตามกรอบงานที่นายปอมเปโอกำหนดไว้เมื่อเดือนพ.ค. 12 ด้านเกี่ยวกับอิหร่านแต่ก็หวังว่ารัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลเตหะรานจะบรรลุข้อตกลงใหม่ๆร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่มีนานาชาติร่วมลงนามกันเมื่อปี 2558 และกำหนดให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร

ต่อมาเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐต้องการให้ประเทศอื่นๆหยุดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านภายใน 4 พ.ย.นี้ มิฉะนั้นจะเผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ และจะไม่ยกเว้นให้ประเทศใดๆทั้งสิ้น โดยมั่นใจว่า รัฐบาลต่างชาติส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจากสหรัฐ และรักษาช่องทางเข้าสู่ตลาดสหรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปแจ้งเรื่องนี้ล่วงหน้ากับชาติยุโรปและเอเชียแล้ว

แต่ในทางกลับกัน จีนย้ำว่าไม่มีแผนจะทำตามที่สหรัฐต้องการ ขณะที่มีรายงานว่า จีนมีแผนเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านอาจส่งผลให้อิหร่านลดการส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกราว 1 ล้านบาร์เรล/วันภายในปีหน้า

อิหร่าน เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) โดยส่งออกวันละกว่า 2 ล้านบาร์เรล มีลูกค้าสำคัญ อย่าง จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอิหร่านรายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว รวมทั้งอินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอิตาลี

ด้านประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน ยืนกรานว่า สหรัฐกำลังก่อสงครามทางเศรษฐกิจกับอิหร่าน และสหรัฐจะไม่สามารถเอาชนะอิหร่านได้

อย่างไรก็ตาม เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่ร่วมลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และคัดค้านกรณีที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลง พยายามล็อบบี้ไม่ให้สหรัฐคว่ำบาตรบริษัทของทั้งสามประเทศที่ทำธุรกิจกับอิหร่าน