หอจดหมายเหตุ จันทบุรี เตรียมเสนอเอกสารยุคสงครามโลก

หอจดหมายเหตุ จันทบุรี เตรียมเสนอเอกสารยุคสงครามโลก

หอจดหมายเหตุ จันทบุรี เตรียมเสนอเอกสารยุคสงครามโลก ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำโลก

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี กรมศิลปากร จัดโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เล่าเรื่องเมืองโบราณพันปี “จันทบุรี” ดินแดนยุทธศาสตร์ชาติไทย เพื่อติดตามการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อส่งเสริมศักยภาพเมืองเพนียด จังหวัดจันทบุรี ศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน

191730

นายเมธาดล วิจักขณะ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เดิมเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2459 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ทำเป็นศาลาว่าการมณฑลจังหวัดจันทบุรี ซึ่งประกอบด้วยเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด จนกระทั่ง พ.ศ.2476 ยกเลิกระบบมณฑล กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.2520 โดยอาคารหลังนี้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดจันทบุรี จนถึง พ.ศ.2521 ต่อมา พ.ศ.2546 หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี ได้ขอให้เป็นที่ทำการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

S__35250230

นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี กล่าวว่า อาคารมีอายุเก่าแก่กว่า 102 ปี เดิมเป็นอาคารศาลากลางเก่า รูปทรงเป็นอาคารแบบยุโรปสไตล์โคโรเนียล ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน ยกใต้ถุนสูงสำหรับเก็บวัสดุ หลังคามุงกระเบื้องว่าว ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างตะวันออกและตกวันตก โดยหลังจากใช้เป็นที่ทำการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้ดำเนินการบูรณะอาคารใน พ.ศ.2547 ระหว่างการบูรณะได้พบเอกสารสำคัญของจันทบุรีบริเวณใต้ถุนอาคาร จำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขนย้าย คัดแยก

S__25550874

พร้อมทั้งประเมินคุณค่าความสำคัญของเอกสารต่างๆ แบ่งเป็นหัวเรื่องต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 10 ปี ในการศึกษารายละเอียด นับเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานสำคัญของชาติ จึงได้ริเริ่มทำโครงการ "การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก:จันทบุรี" เพื่อนำเสนอเข้าคณะกรรมการมรดกความทรงจำโลกแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 เป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นคณะกรรมการฯได้พิจารณา และให้ผู้จัดทำปรับแก้รายงานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น คาดว่า จะสามารถเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งปลายปีนี้

S__25550875

“การพบเอกสารสำคัญครั้งนี้ตื่นเต้นที่สุดเหมือนเจอทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกของชาติ ที่รวบรวมไว้ใต้ถุนอาคาร เอกสารมีความสูงถึง 800 ลูกบาศก์ฟุต เมื่อสรุปเนื้อหา พบเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลกเป็นเอกสารของส่วนราชการไทยและเอกสารบันทึกจากต่างประเทศ อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ.2449-2522 เป็นเอกสารเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารร่วมรบ โดยมีทหารอาสาชาวจันทบุรีร่วมสงครามด้วย โดยเป็นเอกสารตอบโต้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย( มท.)กับจังหวัดจันทบุรี ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือเวียนสอบถามรายชื่อทหารที่ยังมีชีวิตอยู่"

S__25550878

เอกสารชุดถัดมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิดที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอท่าใหม่ สร้างความเสียให้บ้านเรือนและเอกสารชุดถัดมาพูดถึงสงครามเย็น ทำให้รู้สถานการณ์บ้านเมืองยุคข้าวยากหมากแพงตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างไทย เขมร

S__25550881

ขณะเดียวกันยุคนี้คนไทยยังเริ่มมีการจดทะเบียนนามสกุล ใต้ถุนอาคารเราพบเอกสารการจดทะเบียนนามสกุลของชาวจังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 เล่ม แยกเป็นหมวดหมู่ ก-ฮ รวมประมาณ 6,000 กว่านามสกุล โดยมีการตั้งนามสกุลสะท้อนสภาพภูมิศาสตร์ อาทิ ริมคีรี หนองบัวแดง หนองบัวขาว โดยนามสกุลแรก จดเมื่อปี 2457 คือ ชื่อสกุล กาญจนกิจ รวมถึงทำให้ทราบว่ามีชุมชนญวนตะวันตกและชุมชนญวนตะวันออกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรีจำนวนมาก อาทิ อันนัม อานามวัฒน์ อานามนารถ เป็นต้น

S__25550882

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารเก่าเกี่ยวข้องกับการทำพลอยเมืองจันทบุรี เริ่มจากชาวกุลา เข้ามาอาศัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ทำบ่อพลอย นำมาสู่การเป็นแหล่งค้าพลอยเมืองจันท์ ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของจังหวัดจนถึงปัจจุบัน

S__35250217

นางสุมลฑริกาญจณ์ กล่าวต่อว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้งบประมาณจากกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการสแกนเอกสารสำคัญดังกล่าวให้เป็นไฟล์ดิจิตอลเพื่อเป็นการอนุรักษ์และให้บริการในการศึกษาค้นคว้า โดยขณะนี้สามารถสืบค้นได้แล้วกว่า 5,000 รายการ จากข้อมูลที่มีทั้งหมดหลายหมื่นรายการ อย่างไรก็ตามเอกสารต้นฉบับประชาชนทั่วไปสามารถมาศึกษาค้นคว้าได้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี