สั่ง 'ยธ.จังหวัด' สอบปมจับปรับ1หมื่น 'ยายขายข้าวหมาก'

สั่ง 'ยธ.จังหวัด' สอบปมจับปรับ1หมื่น 'ยายขายข้าวหมาก'

รองปลัดยธ. สั่งยุติธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณียายแม่ค้าขายข้าวหมากถูกสรรพสามิตปรับ1หมื่น ชี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยถอดข้าวหมากออกจากพ.ร.บ.สุรา หากมีขั้นตอนต้องขออนุญาตควรแนะนำชาวบ้านก่อนบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 61. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีสรรพสามิตบุรีรัมย์ เปรียบเทียบปรับ 50,000 บาทแม่ค้าขายข้าวหมากวัย 60 ปี ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ยุติธรรมจังหวัดบุรีรัมย์เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เท่าที่ติดตามจากข่าวพบเพียงการทำข้าวหมากจำหน่าย ไม่พบสุราหมักประเภทอื่น ทั้งนี้ เบื้องต้นได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับข้าวหมากพบว่าข้าวหมักหรือข้าวหมาก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นทำกันอย่างเปิดเผยในหลายพื้นที่ มีส่วนผสมสำคัญจากลูกแป้งข้าวหมาก และมีเชื้อราเป็นคุณเป็นประโยชน์ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์อมิเลสออกมาย่อยแป้งในข้าวเหนียวให้เป็นน้ำตาล หลังจากนั้นยีสต์ที่หมักน้ำตาลในข้าวหมากจะกลายเป็นแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่มาก ลูกแป้งทำข้าวหมากจะให้ความหวานมากกว่าแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกับลูกแป้งเหล้าจะให้ แอลกอฮอล์มากกว่าความหวาน ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีการปรับปรุงกฎหมายแยกลูกแป้งข้าวหมากออกจาก พ.ร.บ. สุรา และส่วนผสมก็มีแอบกอฮอล์อยู่ไม่มาก

“จำได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติ 8 ต่อ 6 ให้ถอดแป้งข้าวหมาก ออกจาก พ.ร.บ.สุราฯ เพราะละเมิดภูมิปัญญาชาวบ้าน และการประกอบอาชีพ เนื่องจากคำว่าเชื้อสุรา ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.สุรา ระบุให้หมายความว่า แป้งเชื้อสุรา แป้งหมัก หรือเชื้อใดๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุ ของเหลวอื่นแล้วสามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุราได้ก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แป้งข้าวหมักมีลักษณะที่ไม่ใช่เชื้อสุราในตัวเอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น อาหาร ยา ดังนั้น การที่มาตรา 24 ของพ.ร.บ.สุรา บัญญัติว่า ทำหรือขายเชื้อสุรา ที่มีความหมายรวมถึงแป้งข้าวหมัก จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 รวมทั้งยังเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่บัญญัติให้บุคคลซึ่งรวมตัวกับเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรองรับมาตราดังกล่าว จึงไม่สามารถอ้างได้ว่า มาตรา 24 ขัดหรือแย้งกับ มาตรา 46”รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว การผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวหมักก็สามารถจำหน่ายนอกพื้นที่ที่ยื่นขออนุญาตไว้ได้ เรื่องที่เกรงว่าจะนำไปผลิตสุราเถื่อนนั้น ไม่ต้องห่วงเนื่องจากการผลิตสุราเถื่อนไม่นิยมนำแป้งข้าวหมักมาใช้ในการผลิต เพราะดูแลยาก อีกทั้งตัวแป้งข้าวหมักจะต้องควบคุม อุณหภูมิและไม่คุ้มต้นทุน และสุราที่ได้จะมีแรงแอลกอฮอล์เพียง 5 ดีกรี จึงนิยมใช้ส่าเหล้ามาผลิตมากกว่า ในส่วนของการผลิตอาหารและยารักษาโรคที่ต้องใช้แป้งข้าวหมักเป็นส่วนผสมในการผลิตนั้น ก็สามารถใช้แป้งข้าวหมักได้อย่างเสรี แป้งข้าวหมากจึงไม่เป็นเชื้อสุรา อีกทั้งศาลฎีกาก็เคยมีคำพิพากษาว่าข้าวหมากไม่ใช่สุราตามมาตรา 4 ตามพ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ส่วนการผลิตข้าวหมักหรือข้าวหมากขาย ซึ่งไม่ใช่เป็นผลิตแป้งข้าวหมากนั้น หากมีขั้นตอนที่ต้องขออนุญาตควรสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ชาวบ้านดำเนินการให้ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่ทำและยังฝืนกฎหมายทำต่อ จึงค่อยบังคับใช้กฎหมายกันต่อไป