หุ่นยนต์กายภาพ นวัตกรรมไทยเอื้อมถึง

หุ่นยนต์กายภาพ  นวัตกรรมไทยเอื้อมถึง

ประสบการณ์ของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูนำสู่การพัฒนา “SensibleSTEP” หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินช่วยเพิ่มโอกาสกลับมาเดินได้ในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ทดแทนเครื่องมือนำเข้าในราคาถูกกว่า 4-5 เท่า เดินหน้าเปิดตลาดสถานพยาบาลไทยและเตรียมลุยตลาดเพื่อนบ้าน CLMV

ภาพรวมของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจต้องนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีการอัตราขยายตัวเพิ่ม 10% ทุกปี ขณะที่การเติบโตของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในประเทศไทยอยู่ในอัตรา 5-10% ต่อปี หากคนไทยสามารถผลิตได้เองก็จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มหาศาล

“การทำงานเป็นแพทย์ฟื้นฟูมากว่า 20 ปี พบว่า ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่มีปัญหาการยืน เดิน หรือการทรงตัว ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูการเดิน โดยใช้นักกายภาพบำบัดหรือเครื่องฝึกเดินที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงถึง 20 ล้านบาท ทำให้มีจำนวนน้อยที่เข้าถึงบริการนี้” นายแพทย์ภาริส วงศ์แพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอ็มจีไอ จำกัด กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดิน

เครื่องมือแพทย์สัญชาติไทย

ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกในไทย มีสถิติสูงถึง 250 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือประมาณ 250,000 คนจากจำนวนประชากร 70 ล้านคน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาทรงตัวยืนและเดินไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการฝึกและฟื้นฟูที่เหมาะสมก็จะมีแนวโน้มเป็นผู้ป่วยติดเตียง

“เป้าหมายของการฝึกการเดินคือ ท่าเดินธรรมชาติ ความปลอดภัยและการปรับระดับความยากง่ายให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ขณะที่การใช้นักกายภาพบำบัดคอยพยุงเดินจะทำให้ท่าเดินไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อีกทั้งนักกายภาพฯ ต้องแบกรับน้ำหนักมากและใช้เวลานาน ฉะนั้น หากเราสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินที่ทำงานได้เทียบเท่าหรือดีกว่าของนำเข้าในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง จะช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ จึงเริ่มทำการพัฒนา” นายแพทย์ภาริส กล่าว

หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินหรือ SensibleSTEP ประกอบด้วย ตัวช่วยพยุงด้านบนทั้งแนวดิ่งและแนวราบ และมีการเยื้องซ้าย-ขวา เสมือนการเดินของคนปกติ และแผ่นรองเท้าสำหรับตรึงเท้าของผู้ป่วยที่มีการวัดแรงกด ทำให้ทราบได้ถึงระดับการออกแรงเดินของผู้ป่วย โดยสามารถตั้งโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

จุดเด่นหลักคือ สามารถช่วยผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกให้สามารถฝึกเดินได้แบบมีคุณภาพ ตอบโจทย์การใช้งานได้แม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยใช้เวลาเตรียมผู้ป่วยเพียง 3-5 นาทีต่อคน ซึ่งหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูที่ค่อนข้างดี ราคาไม่สูง มีการบำรุงรักษาไม่ซับซ้อนมาก

ทั้งนี้ SensibleSTEP พัฒนาต่อยอดมาจากผลงาน Sensible TAB โต๊ะหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2555

หวังขยายตลาดส่งออก

ตลาดมีความต้องการเทคโนโลยีช่วยฟื้นฟูการเดินอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกในไทยกว่า 1.4 แสนคนต่อปี ในขณะที่กำลังซื้อมีจำกัด แต่หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินที่เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือคนไทยซึ่งมีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกนั้นมีราคาประมาณ 4 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ สถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนมีคำสั่งซื้อแล้ว 1 เครื่อง และโรงเรียนแพทย์ที่กำลังพิจารณาข้อมูลของเครื่องอยู่

“ตอนนี้เรากำลังเดินเรื่องขอ อย. พร้อมกับการทดสอบความปลอดภัย ก่อนที่จะดำเนินการไปขอมาตรฐาน CE Mark ที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดไทย และขยายผลไปสู่ตลาดโลก โดยมองที่กลุ่มประเทศ CLMV ที่เป็นฐานลูกค้าของทีเอ็มจีไออยู่แล้ว ก่อนที่จะขยายสู่ยุโรปต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็อยู่ระหว่างยื่นจดอนุสิทธิบัตร และเตรียมจะยื่นจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อปลดล็อคการทำตลาดภาครัฐอีกด้วย”

เป้าหมายหลักสำหรับทีเอ็มจีไอและหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินนี้คือ การขยายตลาดเพื่อให้สามารถผลิตได้จำนวนมาก ลดต้นทุนเพื่อให้ได้ราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง

หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเดินหรือ SensibleSTEP ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest 2018 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จากผลงานหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 10 ผลงาน