วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (15 ส.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (15 ส.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าจากวิกฤตทางการเงินในตุรกี

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังนักลงทุนทยอยเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินตุรกี และผลกระทบที่อาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ โดยค่าเงินตุรกีดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาหลังสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นสองเท่า เนื่องจากการเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และตุรกีไม่ประสบผลสำเร็จ

- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) ประกาศตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 10 ส.ค.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง

- เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง หลังตัวเลขการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ลดลงถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตัวเลขการลงทุนในทรัพย์สินถาวรเติบโตลดลงอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในขณะที่ยอดขายปลีกในเดือน ก.ค. ก็ชะลอตัวลง โดยเติบโตร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 9.0 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจและอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง

+/- กลุ่มโอเปคปรับลดประมาณการอุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2562 ลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะเติบโตราว 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอุปทานล้นตลาด

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้จะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย แต่อุปทานจากเกาหลีและจีนยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64-69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดาคาดจะกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน ส.ค. 61
  • การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปคและนอกโอเปคคาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปคในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมากำลังการผลิตจากซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รัสเซีย การผลิตคาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณการผลิตและส่งออกของลิเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเริ่มคลี่คลายลง หลังลิเบียประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมัน El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 90,000 บาร์เรลต่อวัน

-------------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999