‘ครีเอทีฟ’เปลี่ยนธุรกิจ

‘ครีเอทีฟ’เปลี่ยนธุรกิจ

“มงคลคิด” ธูปน้ำไอเย็นเพื่อสิ่งแวดล้อม “Bananian” เปลี่ยนเปลือกกล้วยไร้ค่าให้เป็นเงิน ไฮไลท์ผลงานจากการบ่มเพาะสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ตอบโจทย์ธุรกิจ

“มงคลคิด” ธูปน้ำไอเย็นเพื่อสิ่งแวดล้อม “Bananian” เปลี่ยนเปลือกกล้วยไร้ค่าให้เป็นเงิน “โบนาเน็กซ์” ระบบจัดการในองค์กรแบบออนไลน์ ไฮไลท์ผลงานจากการบ่มเพาะสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ตอบโจทย์ธุรกิจรับการเปลี่ยนแปลงโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ความคิดสร้างสรรค์ คือเป็นต้นทุนที่ไม่สิ้นสุด ยิ่งโลกเปลี่ยนเร็วเท่าไร ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและเสริมเครื่องมือต่างๆ อย่างน้อยก็ประสบความสำคัญ 80% ส่วนที่เหลือต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม" ชมพูนุท วีรกิตติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อธุรกิจและสังคม ทีซีดีซี กล่าว

“ไอเดีย” ต้นทุนที่ไม่สิ้นสุด

ชมพูนุท กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันที่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความแตกต่างและเกิดโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นทีซีดีซีจึงปรับบทบาทตามความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้ 4 วิสัยทัศน์ ประกอบด้วย ครีเอทีฟ วิชั่น, ครีเอทีฟ บิสซิเนส, ครีเอทีฟ เซ็นเตอร์ และครีเอทีฟ ไทยแลนด์ อาทิ โครงการเช้นจ์เอสเอ็มอี : เปลี่ยนแล้วรวย เป็นการพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพด้วยทักษะการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับธุรกิจไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับนานาชาติ พร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

หรือโครงการ D.R.I.V.E. คิด ผลิต ขาย ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สวทช.โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ไอแทป)เพื่อให้การทำธุรกิจเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เพราะถ้าเริ่มต้นจากทิศทางที่ถูกต้องก็จะทำให้ธุรกิจเดินไปได้ไม่ผิดทาง

ขณะเดียวกัน ทีซีดีซีก็มีเมกเกอร์สเปซและเครือข่ายที่ช่วยทำให้เกิดชิ้นงานต้นแบบ แถมยังสามารถออกสู่การทดลองตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ จึงเป็นการดูแลทั้งดีมานด์และซัพพลายแบบครบวงจร

จากประสบการณ์ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการในโครงการเช้นจ์เอสเอ็มอีสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตเฉลี่ย 26% ผลจากการเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนทัศนคติการทำงานใหม่ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าไม่อยากตกขบวนต้องเปลี่ยนให้ทัน

ดีไซน์ไม่เปลี่ยนความเชื่อ

“ธูปน้ำไอเย็น” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการเช้นจ์เอสเอ็มอี เป็นธูปที่มีควันและกลิ่นจากไอน้ำซึ่งพัฒนามาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยนักวิจัยไอแทป ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ผู้ใช้แสบตา จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคในการทำกิจกรรมเกี่ยวความเชื่อ เช่น ไหว้พระ หรือแม้แต่การจุดเพื่อผ่อนคลาย

ส่วนวิธีการจุดธูปก็เปลี่ยนมาใช้การจุ่มน้ำแทนการจุดไฟ ธูปจะมีไอน้ำระเหยออกมาแทนควันไฟ ทำให้ปลอดภัย ทั้งสามารถเลือกกลิ่น สี เหมาะสำหรับการบูชาแต่ละแบบเพื่อที่จะยังคงใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

วิแมน สุขชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิบดี (มงคลคิด) จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาธูปน้ำไอเย็นมาจากความต้องการสร้างนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ โดยไม่กระทบต่อศรัทธาความเชื่อ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าให้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร

ขณะที่ ขนิษฐา รัตนประทุม กรรมการผู้จัดการ หจก.เจเอ็นฟรุตสแนค ที่เข้าร่วมโครงการ D.R.I.V.E. ซึ่งเป็นโครงการช่วยพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร ภายใต้หลักการคิด ผลิต ขายเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์สู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ รุ่น 2

เธอนำเปลือกกล้วยเหลือใช้มาพัฒนาและแปรรูปให้เป็น “ผงเส้นใยอเนกประสงค์” แบรนด์ Bananion ที่สามารถนำมาเติมในอาหาร เครื่องดื่มและขนม เพื่อเพิ่มเส้นใยในอาหารช่วยในการขับถ่าย ส่วน เอกชัย ตั้งรัตนาวลี จากบริษัท โบนาเน็กซ์ จำกัด ได้พัฒนาระบบจัดการประชุมออนไลน์ เสมือนเป็นเลขาอัจฉริยะ มีหน้าที่แจ้งเตือนนัดหมายสำคัญ จัดเอกสารในฐานข้อมูล จัดระบบสัญญาทางออนไลน์ ฯลฯ เพื่่อลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มความสะดวกรวเร็วในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมบริการจัดอบรมในการใช้งาน ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น