ดิจิทัลกับ 'ธุรกิจโรงกลั่น' ยิ่งไฮเทค ยิ่งเพิ่มมูลค่า

ดิจิทัลกับ 'ธุรกิจโรงกลั่น' ยิ่งไฮเทค ยิ่งเพิ่มมูลค่า

ธุรกิจโรงกลั่นสามารถสร้างผลตอบแทนทางการเงินได้จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้

ผลวิจัยโดย “เอคเซนเชอร์” เกี่ยวกับ “ธุรกิจโรงกลั่นอัจฉริยะ(Intelligent Refinery)" ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้บริหาร หัวหน้าสายงาน และวิศวกรในอุตสาหกรรมโรงกลั่นกว่า 170 คนทั่วโลกระบุว่า ธุรกิจโรงกลั่นสามารถสร้างผลตอบแทนทางการเงินได้จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ 

โดย 41% ระบุว่า บริษัทของตนมองเห็นผลตอบแทนทางการเงินแล้ว ขณะที่ 30% ยอมรับว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นกว่า 7% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ 1 ใน 5 หรือ 20% ยังกล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มมูลค่าของธุรกิจได้ 50 - 100 ล้านดอลลาร์ หรืออาจมากกว่านั้น และ 33% ระบุว่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 5 - 50 ล้านดอลลาร์

วางยุทธศาสตร์ชัดเจน

ในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา กิจการต่างๆ ได้ลงทุนด้านดิจิทัลมากขึ้นหรือมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ มากกว่านั้น 3 ใน 4 หรือ 75% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการลงทุนอีกในช่วง 3 - 5 ปีนับจากนี้ จากปีที่ผ่านมาสัดส่วนอยู่ที่ 60%

ธุรกิจโรงกลั่นเกือบครึ่งหรือ 48% ประเมินว่าได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรเต็มที่หรือค่อนข้างเต็มที่ โดยเพิ่มจาก 44% ในการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว แต่ทั้งนี้โรงกลั่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนอกเหนือจากระบบที่พัฒนาแล้วเช่น อนาลิติกส์ มากนัก

เมื่อถามถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมากที่สุด ผู้ตอบส่วนใหญ่ระบุว่า เป็นระบบควบคุมกระบวนการปฏิบัติงานที่ทันสมัย และระบบวิเคราะห์อนาไลติกส์ที่ก้าวหน้า ขณะที่เทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เซ็นเซอร์ไอโอที, เอดจ์คอมพิวติ้ง, ความจริงผสม(mixed reality), โมบิลิตี้ บล็อกเชนหรือสมาร์ทคอนแทร็ก จะนำมาใช้เพียงบางส่วนหรือเป็นโครงการนำร่องเท่านั้น ขณะเดียวกันมีแนวโน้มด้วยว่าจะได้รับการจัดสรรเงินทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงจำเป็นต้องบริหารยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้บริหารประมาณ 1 ใน 4 หรือ 24% เผยว่า ยังไม่มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนว่าใครจะมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล ผู้บริหารประมาณ 43% เผยว่า การไม่มีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่ชัดเจนเป็นอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้กับธุรกิจ

ยังใช้ไม่เต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะมีผู้บริหารเพียง 11% ที่เผยว่ามีประธานเจ้าหน้าที่ด้านดิจิทัลเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนวาระต่างๆ ด้านดิจิทัล แต่หลายองค์กรในธุรกิจโรงกลั่นได้มุ่งไปที่การปรับแนวทางกำกับดูแลเพื่อให้องค์กรสามารถปรับโฉมปฏิรูปไปสู่ยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับการหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบปฏิบัติการต่างๆ

โดย 34% ของผู้บริหารเผยว่า กำลังเร่งปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ 28% มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ และ 15% มีการตั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง(C-level) ใหม่เพิ่มขึ้น

อินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ประเมินว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงกลั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับศักยภาพแท้จริงที่ดิจิทัลสามารถทำได้

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำต่อไปคือ การผสานและใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนากระบวนการต่างๆ ในธุรกิจใหม่ และปรับเปลี่ยนการทำงานในโรงงานทั้งหมด รายงานล่าสุดของเอคเซนเชอร์เรื่อง “ดัชนีชี้วัดระดับความเสี่ยงของธุรกิจต่อการถูกเปลี่ยนโฉม(Disruptability Index)” ได้ชี้ชัดว่า อุตสาหกรรมพลังงานจัดเป็นประเภทธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนโฉม (disruption)ในอนาคตมากที่สุด การเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างมียุทธวิธีจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานและช่วยให้โรงกลั่นผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ ได้

เพิ่มลงทุนกันภัยไซเบอร์

เอคเซนเชอร์ชี้ว่า การคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลองค์กรต้องยกระดับความสามารถของระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในการต้านทานและโต้ตอบอยู่ตลอดเวลา เห็นได้ชัดเจนจาก 28% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ระบุว่า เล็งเห็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือ ภัยนี้เกิดขึ้นในช่วงที่การดำเนินงานในองค์กรต่างๆ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากกว่าในอดีต กลายเป็นเป้าสำหรับภัยคุกคามหลายลักษณะ โดย 1 ใน 3 หรือ 33% ยอมรับว่า ไม่ทราบจำนวนการโจมตีทางไซเบอร์ว่าเกิดขึ้นจริงๆ แล้วกี่ครั้ง

อินทิราชี้ว่า ความจำเป็นเรื่องนี้ยิ่งมีแรงกดดันมากขึ้น เมื่อ 38% ของผู้ตอบยอมรับว่า ความปลอดภัยทางข้อมูลเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร โดยความเสี่ยงที่ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่ามีส่วนสัมพันธ์กับความปลอดภัยทางไซเบอร์คือ ผลกระทบต่อการดำเนินงาน 67% ผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน 39% และการละเมิดข้อมูล 39%

อย่างไรก็ตาม มีผู้บริหารเพียง 28% ที่ระบุให้เครื่องมือด้านดิจิทัลที่เข้ามาเพิ่มสมรรถนะความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็น 1 ใน 3 เรื่องสำคัญที่สุดในการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดย 67% ยังมีคำถามและความกังวลที่ว่า การลงทุนด้านดิจิทัลที่ไม่เพียงพอนั้นจะส่งผลต่อความได้เปรียบเชิงแข่งขันได้อย่างไร ขณะที่ 64% กังวลว่าดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอัตรากำไรได้อย่างไร และ 58% กังวลว่าการลงทุนด้านดิจิทัลที่ไม่จริงจัง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินงานอย่างไร

“ยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีความเสี่ยงและเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นต้องลงทุน อย่างน้อยก็ต้องให้ก้าวหน้ากว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น” 

พร้อมระบุว่า การจะก้าวไปข้างหน้าได้ต้องเริ่มการลงทุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อวางพื้นฐานความสามารถในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการป้องกับระบบการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต