ยธ.ไฟเขียวขยายเพิ่มสถานพินิจฯ เอกชน

ยธ.ไฟเขียวขยายเพิ่มสถานพินิจฯ เอกชน

ปลัดยธ.ไฟเขียวจัดตั้งสถานพินิจเอกชนเพิ่ม ใช้ดูแลเยาวชนก้าวพลาด แข่งวัดประสิทธิภาพรัฐ-เอกชน หัวใจหลักคือต้องดูความพร้อม-จำแนกกลุ่มเสี่ยง-ซับซ้อนรุนแรง นำไปสู่การปรับพฤติกรรม คาดปรับแก้กฎกระทรวงฯอนุญาตเอกชนเปิดสถานพินิจฯ แล้วเสร็จปลายปี 61

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.61 ที่กระทรวงยุติธรรม นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงข้อเสนอของ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลธรรมนูญ และนางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญนาภิเษก. ในเวทีสัมมนาเรื่อง "หลากมุมมองต่อปัญหายาเสพติดและค้นล้นคุก" ที่จัดขึ้นโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กรณีเสนอให้มีการจัดตั้งสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนเอกชนขึ้นทุกภูมิภาคของประเทศ ในลักษณะเดียวกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกโดยมีรูปแบบการบริหารงานแบบเอกชน ว่า กระทรวงยุติธรรมไม่ขัดข้องแต่ต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการว่าสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้มีการแก้กฎกระทรวงเพื่อจัดตั้งสถานพินิจเอกชนให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ขณะนี้กรมพินิจฯ อยู่ระหว่างการพิจารราว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากการจัดตั้งสถานพินิจ มี 2 รูปแบบ คือ ให้เอกชนดำเนินการบริหารเองทั้งหมด หรือเอกชนรับการสนับสนุนทรัพยากรจากรัฐแล้วเข้ามาบริหาร ซึ่งการจัดตั้งสถานพินิจแต่ละแห่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที และในกรณีของสถานพินิจเอกชนก็ต้องวางรูปแบบการบริหารให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาล

“สำหรับการจัดตั้งสถานพินิจฯทั้ง 2 รูปแบบไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวคือต้องการทำให้เด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำและต้องการคืนคนดีมสู่สังคม ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ประสิทธิผลระหว่างสถานพินิจฯของเอกชนหรือรัฐบาลว่า ส่วนไหนดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน” ปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ

ด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์เงื่อนไขอนุญาตให้เอกชนเปิดสถานพินิจฯ ร่างระเบียบแนวทางปฎิบัติสถานพินิจเอกชน และระเบียบเงินอุดหนุนร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯเห็นว่าระเบียบเดิมมีความเข้มงวดเกินไป และเด็กที่กระทำความผิดมีหลากหลายกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลายสภาพ เกรงว่าอาจไม่มีหน่วยงานเอกชนอื่นเข้าร่วม จึงเสนอให้ลดทอนรายละเอียดให้มีความยึดหยุ่นเหมาะสมขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาท ในการช่วยดูแลเยาวชน ส่วนโครงการกำลังใจฯ สามารถเข้ามาสนับสนุนหรือดำเนินการคู่ขนานกันไป ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในสถานพินิจเอกชนขึ้นอยู่จำนวนรายหัวของเยาวชนที่จะถูกส่งเข้ามายังสถานพินิจฯ ปัจจุบันมีค่าอาหารอยู่ 70 บาท/คน/วัน โดยต้องรวมเงินเดือนของเจ้าหน้าที่และค่าสาธารณูปโภคด้วย

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมฯได้เร่งแก้ไขระเบียบดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จภายในปี 2561 เมื่อมีกฎระเบียบออกมารองรับกฎกระทรวงแล้ว อธิบดีกรมพินิจฯก็สามารถพิจารณาออกใบอนุญาตได้ทันที ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะพิจารณาสถานศึกษาที่มีความพร้อมสามารถดูแลเด็กให้เข้าเรียนได้ตามปกติและรับเด็กไปอยู่ที่โรงเรียนได้ก่อน เพราะปัจจุบันกรมพินิจฯ ได้ร่วมงานกับกระทรวงศึกษาและมูลนิธิฯ หลายแห่ง

“หัวใจของหลักการจัดตั้งสถานพินิจเอกชนต้องจำแนกลักษณะของเด็กได้ เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความเสี่ยงต่างกัน เช่น มีพฤติกรรมซับซ้อนรุนแรง ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ ที่สำคัญโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัยที่สถานพินิจเอกชนนั้นๆ กำหนดต้องมีความเหมาะสมกับความเสี่ยงและสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ขณะที่การพิจารณาในการออกใบอนุญาตจะต้องดูจากความพร้อมในการรองรับเด็กและเยาวชน ระบบการรับเด็กจะต้องมีความแข็งแรง ระบบรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะสถานที่จะต้องมีความกว้างและแข็งแรงตามการประเมินความเสี่ยงของเด็ก นอกจากนี้ ต้องมีทีมงานดูแลการเรียนการสอน จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาชีพ พยาบาล โดยทีมงานเหล่านี้อาจจะเป็นการจ้างหน่วยงานภายนอกหรือโรงพยาบาลเข้ามาดูแลก็ได้” อธิบดีกรมพินิจฯกล่าว