วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 ส.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 ส.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังแหล่งผลิต Syncrude เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง

- ตลาดน้ำมันยังคงกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังจีนประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าประเภทน้ำมันเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.นี้

- วิกฤตการเงินในตุรกีสร้างความวิตกกังวลต่อตลาดการเงินโลก หลังค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงหนักที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2008 รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 15 ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของตุรกีปรับขึ้นอย่างมากและอาจทำให้ตุรกีต้องกู้ยืมเงินจาก IMF เพื่อชำระหนี้ ถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นประเทศขนาดเล็กและบริโภคน้ำมันเพียงร้อยละ 1 ของการใช้น้ำมันโลก แต่ผลกระทบดังกล่าวอาจลุกลามไปยังตลาดเกิดใหม่ รวมถึงธนาคารยุโรปได้

 - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) จะปรับเพิ่ม 93,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 7.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย.

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนที่ปรับลดลง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังแรงซื้อในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนหน้าหลังจบฤดูห้ามจับปลาในประเทศจีน นอกจากนี้ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64-69 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดาคาดจะกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน ส.ค. 61
  • การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปคและนอกโอเปคคาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปคในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมากำลังการผลิตจากซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รัสเซีย การผลิตคาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณการผลิตและส่งออกของลิเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเริ่มคลี่คลายลง หลังลิเบียประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมัน El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 90,000 บาร์เรลต่อวัน

-----------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999