ชักธงแดงชายหาดภูเก็ต ห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำ

ชักธงแดงชายหาดภูเก็ต ห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำ

ไลฟ์การ์ดยังชักธงแดงชายหาดจังหวัดภูเก็ต ห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำ คลื่นซัดชายฝั่งไกลถึง 200 เมตร

(13 ส.ค.61) จากการติดตามสถานการณ์ตามชายหาดต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เช่น หาดกมลา หาดป่าตอง หาดกะตะกะรน เป็นต้น พบว่าได้รับผลกระทบจากคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เกิดการกัดเซาะหน้าผิวดินทำให้ต้นไม้ ต้นมะพร้าว ต้นสนริมหาด โค่นล้มจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าในบางชายหาดคลื่นยังกัดเซาะฐานหอตรวจการณ์ชายฝั่งของเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดพังลงมา และบางพื้นที่คลื่นยังพัดเอาทรายขึ้นมาบนถนนหนา5-10เซนติเมตร

ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เป็นปกติในช่วงหน้ามรสุมและมีลมแรง ประกอบกับเป็นช่วงขึ้น1ค่ำ ถึง3ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง จึงเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้มีสภาวะคลื่นสูงและลมแรงในระยะนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดของแต่ละชายหาดต้องนำธงแดงไปติดตั้งเพื่อเตือนการลงเล่นน้ำทะเล แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืน

จากการสอบถามนาวาเอกวันชัย จันทร์ละเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาทางทะเล กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ อธิบายว่า ปรากฏการณ์คลื่นซัดฝั่งเนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงหรือที่เรียกว่า Monsoon Surge มีสาเหตุมาจากฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และมีกำลังแรงในระยะนี้ ตามปกติมรสุมจะพัดปกคลุมประเทศไทยระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม

ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงในซีกโลกใต้ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดออกจากศูนย์กลางเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตร มรสุมนี้จะนำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกทั่วไป โดยเฉพาะตามบริเวณชายฝั่งทะเลและเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น เช่น บริเวณ จ.ระนอง พังงา จันทบุรี ตราด เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ในช่วงนี้ยังมีปัจจัยเสริมจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนหรือชายฝั่งบริเวณจีนตอนใต้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ยกระดับหย่อมนี้เป็นพายุดีเปรสชั่นเหนี่ยวนำให้ลมมรสุมที่พัดแรงขึ้นไปเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุบริเวณดังกล่าวอีกด้วย