หอมกลิ่นกาแฟที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง

หอมกลิ่นกาแฟที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง

1 ปีผ่านไปหลังจากไปเยือนบ้านอาจารย์ฝรั่ง ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันพุธ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปบ้านอาจารย์ฝรั่งเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน พร้อมกับมุมกาแฟหอมกรุ่นจากคอฟฟี่ คราฟท์แมน (Coffee Crafstman )ตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปจนถึงหนึ่งทุ่มตรง

“กาแฟต้องดื่มเช้าๆนะคะถึงจะได้อารมณ์” ฉัตรชนก ดุลยรัตน์ ผู้ดูแลบ้านอาจารย์ฝรั่ง กล่าวถึงการคัดสรรร้านกาแฟที่มาให้บริการบริเวณชั้นล่างของบ้านอาจารย์ฝรั่ง ในสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ถ.ราชวิถี (ใกล้เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร) ซึ่งสามารถเปิดให้คนทำงานในสำนักงานและละแวกใกล้เคียงแวะมาจิบกาแฟยามเช้าก่อนทำงานได้ ขณะเดียวกันก็รองรับผู้มาเยือนได้จนถึงหัวค่ำ

หลังจากได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบกในการดูแลบ้านหลังนี้ ฉัตรชนก เจ้าของธุรกิจด้านออกแบบติดตั้งแสง ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่าอยากเติมความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านด้วยกลิ่นหอมๆของกาแฟดีๆ

“ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์หรือแกลลอรี มักจะมีร้านกาแฟให้บริการ ร้านกาแฟแบบไหนล่ะ ? ที่เหมาะกับบ้านอายุ 90 ปี ด้วยความที่คอฟฟี่ คราฟท์แมน เป็นร้านที่ตั้งอยู่ในบ้านเก่า อย่างที่ซอยเย็นอากาศ ประกอบกับคอนเซ็ปต์ในการเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันของเขา ทำให้เราคิดว่าคราฟท์แมนเหมาะกับที่นี่” ฉัตรชนก บอกกับเรา

นอกจากจัดการพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นร้านกาแฟแล้ว ชั้นบนยังคงใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะโดยแบ่งออกเป็น 3 ห้องด้วยกัน ห้องที่ 1-2 จัดแสดงประวัติและผลงานของศ.ศิลป์ พีระศรี รวมทั้งประวัติของบ้านหลังนี้ ส่วนห้องที่ 3 จัดแสดงผลงานศิษย์เก่าศิลปากรและศิลปินไม่จำกัดสถาบัน โดยจะมีนิทรรศการและกิจกรรมหมุนเวียนกันไปในแต่ละเดือน

ในส่วนของเรื่องราวในช่วงที่ศ. ศิลป์มาพำนักอยู่ ณ บ้านหลังนี้ มีบันทึกไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 กรมศิลปากรได้เช่าบ้านหลังนี้ ให้เป็นที่อยู่ของช่างปั้นชาวอิตาเลียน Prof. Corrado Feroci(ศ.ศิลป์ พีระศรี) และครอบครัว เมื่อปี 2466 และพำนักอยู่นานถึง 8 ปี ก่อนย้ายไปอยู่ที่บ้านสีลม

ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าไว้ในวันเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่งว่า ช่วงที่อาจารย์ศิลป์อยู่บ้านหลังนี้เป็นเวลาที่ทำงานสร้างสรรค์พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ บีโน โรมาโน ลูกชายอาจารย์ศิลป์ถือกำเนิดที่บ้านหลังนี้

แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาเพียง 8 ปี ประกอบกับบันทึกเรื่องราวในเวลานั้นไม่มาก หากการจะทำความรู้จักอาคารจำเป็นต้องศึกษาเทียบเคียงไปกับประวัติของบ้านไปพร้อมกัน

บ้านอาจารย์ฝรั่ง จัดเป็น 1 ใน 3 ของเรือนบริวารของบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด ตราบจนถึงวันสวรรคต และเป็นต้นตระกูลไกรฤกษ์

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ได้รับวางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ตามเสด็จใกล้ชิดโดยตลอด ท่านทุ่มเทให้กับการรับราชการสนองพระเดชพระคุณจนแทบไม่ได้กลับบ้านซึ่งอยู่ไกลออกไป ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินปลายถนนราชวิถีให้ท่านปลูกสร้างบ้านพักอาศัยสะดวกในการเดินทางไปรับราชการ

ทรงพระราชทานเงิน 300 ชั่งเพื่อใช้ในการปลูกสร้างบ้านหลังใหญ่จึงได้สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบวิคตอเรียน เรเนสซองค์ โดยอาศัยช่างก่อสร้างชาวต่างประเทศชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี โดยพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเป็นผู้วางแปลนเองทั้งหมด หลังคาทรงปั้นหยา อวดพื้นหลังคาด้วยกระเบื้องว่าวเจาะตกแต่งช่องหน้าต่างเล็กๆบนหลังคา

วันประวัติศาสตร์ของบ้านหลังนี้คือ 13 มีนาคม พ.ศ.2448 เป็นวันขึ้นบ้านใหม่ เป็นวันที่รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเหยียบบ้านหลังนี้ทุกห้อง เพื่อเป็นสิริมงคล ทรงเสวยพระกระยาหารโดยพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เป็นผู้ถวายพระกระยาหารด้วยตนเอง

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา 14 พฤศจิกายน 2521

นับแต่ ปี 2522 เป็นต้นมา อาคารอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักตรวจบัญชีกองทัพบก มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์มาโดยลำดับเพื่อให้คงไว้ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด

ในวันที่เราไปเยือนบ้านอาจารย์ฝรั่ง บ้านหลังใหญ่อยู่ในช่วงบูรณะจึงมิได้มีโอกาสเข้าชมเหมือนเมื่อคราวมาครั้งแรก อย่างไรก็ดียังคงมีเรือนบริวารอีก 2 หลัง ที่ได้รับการบูรณะดูแลเป็นอย่างดี แม้ว่าจะเปิดให้เข้าชมเพียง 1 หลังที่ชั้นล่างเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ หากก็ยังทำให้เราได้ชื่นชมความงดงามของรูปทรงอาคารที่ได้รับการออกแบบให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดี

การเดินทางมาบ้านอาจารย์ฝรั่ง หากตั้งต้นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ถนนราชวิถีให้มุ่งหน้าไปทางสะพานกรุงธน หรือ สะพานซังฮี้ ผ่านสี่แยกไฟแดงให้ชิดขวาไว้ ตรงไปประมาณ 20 เมตรพบสะพานลอยคนเดินข้ามแล้วเตรียมเลี้ยวขวาเข้าสู่สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก จะมองเห็นบ้านอาจารย์ฝรั่งอยู่ใกล้ประตูทางออก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.09 5969 6519