เจาะเส้นทางเงิน มัด'เจ้าพ่อหุ้น'

เจาะเส้นทางเงิน มัด'เจ้าพ่อหุ้น'

เปิดเส้นทางเงิน พบชัดเจน โอนเข้าบัญชี“เสี่ย ป.”เจ้าพ่อตลาดหุ้น 66.5 ล้านบาท ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐาน มั่นใจข้อมูลมากพอ

ออกหมายจับเพิ่มได้ 5-6 คน พี่สาว“บูม” ประสานถามรายละเอียดยื่นประกันตัว พร้อมเข้ามอบตัว 17 ส.ค.นี้ ส่วน“ปริญญา”หนีไปเกาหลีใต้ แล้ว

คดีโกงบิทคอยน์ 797 ล้านบาท คืบหน้าล่าสุด ที่กองปราบปราม วันที่ 11 ส.ค.นี้ แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามอยู่ระหว่างการขยายผลทางคดีเพิ่มเติม หลังพบความเชื่อมโยงทางเส้นทางการเงินกับกลุ่มบุคคลหลายรายทั้งคนในครอบครัวของนักแสดงหนุ่มและผู้กว้างขวางในวงการค้าหุ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานข้อมูลทางเส้นทางการเงินกับทางสถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปที่กลุ่มบุคคลใดบ้าง หากพบความเชื่อมโยงก็จะต้องเชิญตัวมาสอบปากคำตามขั้นตอน

รายงานข่าวระบุว่าในส่วนของ เสี่ยป.เจ้าพ่อตลาดหุ้นนั้น เมื่อพิจารณาจากเส้นทางเงิน เจ้าพนักงานสอบสวน พบโอนเข้าบัญชีตัวเอง 66.5 ล้านบาทนั้น ขณะเดียวกัน ก็ได้เริ่มคุย ชักชวน ผู้เสียหาย นายอาร์นี ออตตาวา ซาอ์ริมาอ์ ชาวฟินแลนด์ ตั้งแต่ต้นๆเมื่อ มิ.ย.2560 ที่ชักชวน กล่อมให้มาลงทุน ซึ่งขณะนี้เจ้าพนักงานสอบสวน อยู่ในขั้นการตรวจสอบหลักฐานต่างๆเพิ่มเติม

ในส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าหลังจากที่กลุ่มผู้ต้องหาได้หลอกให้ผู้เสียหายลงทุนซื้อหุ้นโดยใช้เงินสกุลบิทคอยน์ และมีกลุ่มบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองนักการเมืองมาซื้อเงินสกุลบิทคอยน์จากระบบไปนั้น ในส่วนนี้ แหล่งข่าว ยืนยันว่า ไม่มี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้สอบถามทางผู้บริหารบิทคอยน์ ปรากฏว่าเป็นการซื้อขายสกุลเงินอย่างถูกต้องตามระบบ ไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ทางกองปราบปรามจะขยายผลไปยังเงินที่ได้จากการฉ้อโกงหลอกผู้เสียหายว่าได้มีการยักย้ายถ่ายเทหรือเกี่ยวพันกับบุคคลใดมากกว่า ซึ่งที่พบขณะนี้พบว่าเงินที่ได้จากการกระทำความผิดกลุ่มผู้ต้องหาได้มีการโอนย้ายไปให้บุคคลในครอบครัว รวมถึงนำไปลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจที่ดินในลักษณะขายฝาก

พี่สาว“บูม”ติดต่อมอบตัว 17 ส.ค.

“อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพบข้อมูลมากพอที่จะออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดเพิ่มเติมได้อีก 5-6 คน ในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นใครบ้าง สำหรับ เสี่ย ป.บุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดหลักทรัพย์ นั้น ตรวจสอบพบข้อมูลความข้องเกี่ยวอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเช่นกัน”แหล่งข่าว ระบุ

นอกจากนั้นตำรวจยังได้เร่งติดตามตัว นางสาวสุพิชฌาย์ และนาย ปริญญา จารวิจิต พี่สาวและพี่ชาย ของนาย จิรัชพิสิษฐ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีเดียวกัน โดยล่าสุดทางชุดสืบสวนกองปราบปราม ได้พบรถยนต์ของนางสาวสุพิชฌาย์ จอดทิ้งไว้ที่ย่านดินแดง แต่ไม่พบตัว โดยเบื้องต้น ทางนางสาวสุพิชฌาย์ ได้ประสานผ่านทางคนกลางติดต่อขอสอบถามรายละเอียดหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัว และประสานที่จะเข้ามามอบตัวในวันศุกร์ที่ 17 ส.ค. นี้ แต่สำหรับนายปริญญา พี่ชาย ซึ่งถูกออกหมายจับในคดีเดียวกัน ตรวจสอบพบว่า ได้เดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศเกาหลีใต้ ก่อนที่ศาลจะออกหมายจับ

ธปท.ยันแบงก์ไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องบิทคอยน์

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธ์ศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรณี ที่มีการตรวจพบว่ามีคดีฉ้อโกงบิทคอยน์ 797 ล้านบาทธปท.ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าการตรวจพบการฉ้อโกงเกิดขึ้น น่าจะเริ่มมาจากการร้องเรียน จึงนำมาสู่การดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งการตรวจเส้นทางทางการเงินผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบคดีการฉ้อโกงดังกล่าว อย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) หรือกองบังคับการปราบปราม(บก.ป.)ก็สามารถประสาน และตรวจสอบกับแบงก์โดยตรงอยู่แล้ว หากสงสัย ว่าลูกค้าธนาคารเกี่ยวข้องกับคดีลักษณะดังกล่าว

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว การเปิดบัญชี กับธนาคาร เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินนั้น ในส่วนของธนาคาร ไม่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว ว่าจุดประสงค์ของการเปิดบัญชี เพื่อทำธุรกรรม ฝาก ถอน โอน ต่างๆ เปิดไว้เพื่อจุดประสงค์ได้ เพราะหน้าที่ของธนาคาร คือให้บริการทางการเงินตามขอบเขตที่สามารถทำได้ แต่แบงก์สามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้ จากกรณี ที่มีการขอให้ตรวจสอบ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้างในข้างต้น หรือการทำธุรกรรมทางการเงินมากผิดปกติ เกินกำหนดของปปง.ที่เกิน2 ล้านบาท ซึ่งหากเกินจากที่ระบุไว้ แบงก์ก็มีหน้าที่ ติดต่อ ประสานกับลูกค้าโดยตรง เพื่อให้ชี้แจงที่มาของเงินต่างๆได้ แต่หากเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็ถือเป็นการทำธุรกรรมปกติที่แบงก์อาจไม่มีอำนาจในการต้องเข้าไปตรวจสอบ หรืออาจไม่ทราบการทำธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบบัญชีแบงก์ ดังนั้นแบงก์ก็อาจไม่สามารถการทำธุรกรรมของลูกค้าได้หากเป็นธุรกรรมปกติ เช่นการโอนเงิน ฝากเงินเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข่าว พบว่ากรณีดังกล่าว เป็นการร่วมกันฟอกเงิน หรือหลอกลวงประชาชนให้มาลงทุน แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่ใช่การทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับบิทคอยน์ ตามที่ธปท.ออกหนังสือเวียนห้ามธนาคารพาณิชย์ไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นกรณีนี้ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ธปท.ก็มีหน้าที่แนะนำประชาชนผู้เสียหาย ให้ไปแจ้งดำเนินคดีกับตำรวจ และลักษณะเดียวกันการฉ้อโกง ที่เป็นลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งก็มีส่วนราชการ เช่น ส่วนป้องปรามการเงินนอกระบบ หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ดูแลรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

ห้ามลูกค้าเทรดเงินดิจิทัลไม่ได้

ด้านนายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ การซื้อขายบิทคอยน์ทำได้ตามกฎหมายมากขึ้น หลังภาครัฐมีการออกกฎกติกาให้สามารถซื้อขายได้ ดังนั้นการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขาย โอนเงิน ชำระเงินก็สามารถทำได้ เพราะแบงก์เป็นตัวกลางเท่านั้นให้การทำธุรกรรมสำเร็จได้ เพราะเป็นเงินของลูกค้า และแม้แบงก์ทราบว่า บัญชีดังกล่าวอาจมีการฉ้อโกง การอายัดต่างๆก็อาจไม่สามารถทำได้ ซึ่งต้องอาศัยกฎหมาย ในการเข้ามาสืบสวนสอบสวน แบงก์ถึงดำเนินการอายัดบัญชีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงต่างๆได้

นายด้านฐากร ปิยะพันธ์ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของไทย และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดกล่าวว่า โดยปกติแล้วเมื่อลูกค้าเปิดบัญชี ทำธุรกรรมการเงิน แบงก์ไม่ทราบอยู่แล้วว่า การเปิดบัญชีด้วยวัตถุประสงค์ใด หรือการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายบิทคอยน์ แบงก์อาจไม่ทราบ เนื่องจากเวลาการทำธุรกรรมโอนเงิน ไม่ได้โอนมาเป็นบิทคอยน์ แต่เงินถูกแปลงมาเป็นเงินสกุลบาทแล้ว ดังนั้นการติดตามการทำบัญชีลูกค้าก็อาจทำได้ยาก

“เวลาลูกค้ามีการเทรดบิทคอยน์ ตามกฎหมายก็สามารถทำได้แล้ว แต่นั้นในมุมลูกค้า แต่ไม่ใช่แบงก์ ก็เหมือนการโอนเงิน ซื้อขายปกติ ก็เป็นอำนาจของลูกค้าอยู่แล้ว แบงก์ห้ามไม่ได้”นายฐากรกล่าว