'ธวัชชัย' ไม่ต้องเปิดศึกแย่งลูก ยธ.แนะทางออก ฟรี!

'ธวัชชัย' ไม่ต้องเปิดศึกแย่งลูก ยธ.แนะทางออก ฟรี!

"รองปลัด ยธ." กางตำราแนะ 8 ขั้นตอนทางกฎหมายให้ผัวเมียหมดรัก-หมดใจ ไม่ต้องเปิดศึกแย่งลูกย้ำอย่าจัดการปัญหาตามอำเภอใจ ให้หันหน้าพึ่งศาล ฟ้องคดีครอบครัวฟรี! ไม่มีทนายศาลตั้งให้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แนะนำขั้นตอนทางกฎหมายในการขอเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่าร้างหรือแยกทางของสามีภรรยาว่า เมื่อหมดรักและหมดใจ อย่ากลัวเรื่องที่จะแยกทางหรือลาออกจากการเป็นผัวเมียกัน แต่จงกลัวว่าเราไม่สามารถลาออกจากการเป็นพ่อแม่ได้ จะทำอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย. การดำเนินคดีครอบครัวในศาลนั้น ไม่เสียค่าใช้จ่าย ในกรณที่ไม่มีทนายความสามารถขอให้ศาลแต่งตั้งให้ก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามมาตรา 158 โดยมีขั้นตอนการดำเนินการทางคดีง่ายๆ 8. ขั้นตอน ดังนี้ 1 ไปยื่นคำฟ้อง หรือคำร้องขอใด ๆ ในคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ศาลเยาวชนและครอบครัวในจังหวัดที่คุณมีภูมิลำเนาอยู่. 2 เมื่อศาลเยาวชนฯ ได้รับคำฟ้องหรือคำร้องแล้ว ศาลจะแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจทราบ เพื่อไปประมวลและรายงานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัว สวัสดิภาพ ความประสงค์หรือประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์และข้อเท็จจริงอื่นและเสนอความเห็นต่อศาลโดยไม่ชักช้า

นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า. ขั้นตอนที่ 3 เมื่อศาลได้รับความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจแล้ว ศาลก็จะแจ้งความเห็นนั้นให้คู่ความทราบ คู่ความมีสิทธิที่จะแถลงคัดค้านและนำสืบหักล้างข้อมูลดังกล่าวได้ตามมาตรา 168 ปกติคดีครอบครัวการพิจารณาพิพากษานั้น ตามกฏหมายจะให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญก่อน ตามมาตรา 146 เพื่อคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่บุตรที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งศาลเยาวชนก็จะตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวเข้ามาทำหน้าที่ตามมาตรา 148 และในการพิจารณาคดีคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์หรือไม่ประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยก็ได้ โดยร้องขอต่อศาล แต่ถ้าคดีนั้นเป็นคดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ศาลจะเป็นผู้กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบเองได้ และถ้าจำเป็นต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ จิตวิทยา การให้คำปรึกษา แนะนำการสังคมสงเคราะห์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ศาลอาจเรียกบุคคลดังกล่าวมาร่วมปรึกษาหารือหรือให้ความเห็นได้ตามมาตรา 147

ขั้นตอนที่ 4. ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นในระหว่างการไกล่เกลี่ยหรือพิจารณาคดี ศาลอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา ดำเนินการสืบเสาะภาวะความเป็นอยู่ของครอบครัวเพื่อมาใช้ประโยชน์ในการเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทหรือเมื่อเห็นเป็นการสมควรและคู่ความได้ยินยอมแล้ว จะสั่งให้แพทย์หรือจิตแพทย์ตรวจสภาพร่างกายหรือสภาพจิตของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจก็ได้ตามมาตรา 152. ทั้งนี้คู่ความจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นในในกระบวนการพิจารณา เพราะศาลจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะต่อหน้าตัวความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยจะให้มีทนายความอยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ตามคำร้องขอของคู่ความ และเพื่อเป็นการปกป้อง ข้อมูลเกี่ยวกับคดีไม่สามารถนำไปโฆษณา ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นหนังสือ เผยแพร่ทางสื่อมวลชน สื่อสารสนเทศหรือโดยวิธีการอื่นใดซึ่งคำคู่ความ ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ใด ๆ ในคดี หรือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีครอบครัวหรือการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว ห้ามมิให้แพร่ภาพ แพร่เสียง ระบุชื่อหรือแสดงข้อความหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันอาจทำให้รู้จักตัวคู่ความหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือถูกกล่าวถึงในคดี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา 153 ถ้าฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 192

ขั้นตอนที่ 5 ถ้าในคดีนั้นมีคำพิพากษาให้มีชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพนั้น สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร ซึ่งจะคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จำนวนบุพการี และผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ศาลท่านอาจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานศาล เจ้าพนักงานอื่นหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีดังกล่าวตามมาตรา 154 และถ้าคดีนั้นๆ มีเรื่องสินสมรส ค่าทดแทน ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยาและการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือวิธีการใด ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือประโยชน์ของคู่ความหรือบุตรได้ตามความจำเป็นและสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในตามมาตรา 159 ได้ด้วย

ขั้นตอนที่ 6 ศาลมีอำนาจตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจเป็นผู้กำกับการปกครอง และให้ผู้กำกับการปกครองมีอำนาจหน้าที่สอดส่องว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ได้ใช้อำนาจปกครองเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์หรือไม่ และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่ศาลมอบหมาย รวมทั้งรวบรวมและรายงานข้อเท็จจริงและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับการปกครองต่อศาลเป็นครั้งคราวหรือภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง ซึ่งในที่นี้ให้หมายรวมถึงให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาลของผู้เยาว์ซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือผู้พิทักษ์ของผู้เยาว์ซึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยอนุโลมด้วย

ขั้นตอนที่ 7 ในระหว่างการกำกับการปกครองดังกล่าว หากผู้อยู่ใต้การกำกับการปกครองเห็นว่าการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้กำกับการปกครองไม่เป็นไปเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ หรือตามที่ศาลมอบหมาย ผู้อยู่ใต้การกำกับการปกครอง ก็สามารถไปร้องต่อศาลที่สั่งตั้งผู้กำกับการปกครองภายในกำหนด 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขการกระทำหรือสั่งยืน กลับ หรือแก้ไขคำวินิจฉัยของผู้กำกับการปกครองหรือสั่งการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรครับตามมาตรา 169 และขั้นตอนที่ 8 กรณีที่ศาลจะตั้งผู้ปกครองของผู้เยาว์ ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดา มารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์สิ้นสุดลง หรือมีเหตุจะถอนผู้ปกครองของผู้เยาว์ และศาลเห็นว่าไม่มีผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ ศาลจะตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจที่ผู้เยาว์นั้นอยู่ในเขตอำนาจหรือครอบครัวอุปถัมภ์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือบุคคลอื่นใด เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์หรือผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ก็ได้

“จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนต่างๆมีกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจน สำหรับคนที่หมดรักกัน แต่มีบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์ เด็กหรือเยาวชน จึงไม่ควรจัดการปัญหาตามอำเภอใจ เดี๋ยวจะมีคดีอื่นๆงอกขึ้นมา ทั้งยังส่งผลกระทบต่อบุตรอย่างประมาณค่าไม่ได้ตามมา”นายธวัชชัยระบุ