'ประยุทธ์' ชวนคนไทยขับร้องเพลงสดุดีพระแม่เจ้า

'ประยุทธ์' ชวนคนไทยขับร้องเพลงสดุดีพระแม่เจ้า

"ประยุทธ์" ชวนคนไทย ร่วมขับร้องเพลงสดุดีพระแม่เจ้า วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงดำรงฐานะเป็นทั้งสมเด็จพระอัครมเหสีที่ทรงติดตาม “พ่อหลวง” ทรงสนับสนุนพระราชกรณียกิจนานัปการ อีกทั้ง ทรงเป็นพระราชมารดาผู้ประเสริฐ ทรงอบรมสั่งสอนพระราชโอรส พระราชธิดา ให้ตระหนักในหน้าที่ อันพึงทรงบำเพ็ญต่อชาติบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์ และในฐานะที่ทรงเป็น “แม่ของแผ่นดิน” พระองค์ทรงพากเพียร และมีพระวิริยะอุตสาหะ ประกอบพระราชกรณียกิจทั้งปวง เพื่อให้ประชาชนหาเลี้ยงชีพได้โดยชอบ เป็นปกติสุข บ้านเมืองมีความมั่นคง ไม่แตกแยก

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคมนี้ ขอเชิญประชาชนร่วมกิจกรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแสดงความจงรักภักดี ด้วยการประดับธงชาติไทยคู่กับธงพระนามาภิไธย ส.ก. พระฉายาลักษณ์ และตั้งเครื่องราชสักการะ ตามหน่วยงาน อาคาร บ้านเรือน พร้อมจัดสถานที่ลงนามถวายพระพร ตลอดเดือนสิงหาคมโดยในวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม นี้ เวลา 19.00 น. ขอเชิญปวงชนชาวไทยร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และร่วมร้องเพลง “สดุดีพระแม่เจ้า” อย่างพร้อมเพรียงกัน สำหรับ “วันแม่แห่งชาติ” ประจำปี 2561 นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญ ความว่า “เมื่อเรารวมกำลังกันทั้งชาติ ย่อมสามารถช่วยไทยไขปัญหา ผนึกแรงหลอมรวมร่วมปัญญา จักนำพาชาติตนรอดพ้นภัย” ซึ่งเป็น “สัจธรรม” ที่ได้พิสูจน์ให้ทั้งโลกเห็น “พลังแห่งความสามัคคี” ของคนในชาติจากความสำเร็จในการกู้ภัย “ทีมเยาวชนหมูป่า” ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่ผ่านมา และ “ความรู้ รัก สามัคคี” นี้ จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ได้เสมออาทิ โครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เน้นการบูณาการ แผนงาน โครงการ งบประมาณ เครื่องมือ ระบบต่างๆ เพื่อความเป็นเอกภาพ แก้ไขปัญหา ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ไม่อาจพร่องน้ำ หรือ ผลักดันมวลน้ำลงทะเลจนหมด เพราะอาจจะเกิดปัญหาภัยแล้ง แทนอุทกภัย ต้องคำนวณการเก็บกักน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทุกมิติโดยเฉพาะภาคการผลิตที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ และน้ำกินน้ำใช้น้ำบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าบริหารได้ดี จากท่วมมาก เคยท่วมมาก ก็เหลือเป็นท่วมน้อย จากท่วมนาน เป็นท่วมไม่นาน ต้องพยายามทำให้ประชาชนจะเดือดร้อนน้อยที่สุด

นายกฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำ ภาคเหนือและภาคกลาง ที่เชื่อมโยงกันไม่มีปัญหา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง แต่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ก็ยังวิกฤตอยู่ ต้องเร่งระบายออกในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนภาคตะวันตก เขื่อนแก่งกระจาน – เขื่อนวชิราลงกรณ์ ยังคงน่าเป็นห่วง ระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานสูงขึ้น ก็ได้มีการพร่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ถึง 42% โดยที่ไม่มีใครเดือดร้อน แต่เมื่อปริมาณฝนตกมาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ฝนตกกว่า 100 มิลลิเมตร จนน้ำเต็มเขื่อน จึงต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม อาจจะต้องมีการท่วมบ้าง ยืนยันรัฐบาลมีมาตรการรองรับเพราะมีประสบการณ์ปี 54 และจากการบริหารจัดการเป็นเอกภาพ ก็สามารถระบายน้ำไปได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ก่อนลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี นั้นทราบว่ามีการรายงานข่าว อาจจะเกินความเป็นจริง อาจจะโดยความตั้งใจ ไม่ตั้งใจ เข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจเช่น การระบายน้ำผ่าน spill-way จนเกิดความตื่นตระหนก จนเกิดมโนภาพที่น่ากลัวจนหลายคณะทัวร์ยกเลิกที่พัก และการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ชายหาดชะอำ – หัวหิน จนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็อยากขอให้ความมั่นใจ ในการบริหารจัดการของภาครัฐ ขอร้องสื่อช่วยแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องด้ว


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าแก้ไขปัญหาจราจร ในกรุงเทพมหานคร ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ รถไฟฟ้า รถเมล์ ส่วนนอก กทม. รถไฟ,รถไฟฟ้า ที่อาจต้องมีเพิ่มขึ้น ถนน ท่าอากาศยาน ท่าเรือ จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ให้ครอบคลุมการขนส่ง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จึงต้องสร้างเครือข่าย ให้บูรณาการร่วมกัน สอดประสานกัน ต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง ใช้งบประมาณ แต่ปัญหาอุปสรรคของประชาชนผู้สัญจร โดยเฉพาะในเขตเมือง และ กทม. ที่อาจจะเป็นเหตุให้ “รถติด” ก็พยายามแก้ปัญหาให้อยู่อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงเรื่อง การเป็นประชาธิปไตย ว่า “การเลือกตั้ง” ก็เป็นกระบวนการหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญ แม้จะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดอย่างที่ประชาชนให้ความคิดเห็นมากับการตอบแบบสอบถาม 10 ข้อ แต่ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมาถึง เป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม จำเป็นต้องสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” สร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนทุกภาคส่วน หลายคน หลายฝ่ายย้ายกันไปย้ายกันมา ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ถ้าทุกคนคิดว่าการย้ายมา จะทำให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้นในการทำงาน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าในวันหน้ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามา ก็ต้องทำตามกติกา กฎระเบียบ กฎหมายมากมาย คงทำอย่างเดิมไม่ได้อีกต่อไป โดยสิ่งที่ทำได้วันนี้เลย ก็คือทุกคนต้องเตรียมการ รักษาสิทธิ์ของตนด้วยการออกมาใช้สิทธิ์ ช่วยกันรักษากฎหมาย ไม่ยอมให้ใครละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และ ไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมการซื้อสิทธิ์ – ขายเสียง ทุกคนต้องร่วมมือกัน เดินหน้าประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เห็นกิจกรรมต่อยอดมากมายในลักษณะ “พลังประชารัฐ” ที่น่าชื่นชม เช่น ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 100 ประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เป็นเรื่องร้ายแรง ดังนั้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดภาระสิ่งแวดล้อมได้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย ไปพร้อมๆ กับการสร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” ที่มุ่งเน้นการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก และ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ร่วมกันรับผิดชอบต่อทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างภาระขยะในแหล่งท่องเที่ยว หรือเรียกได้ว่าเป็น “การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ” นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของรัฐบาล การแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะพลาสติก นั้น อยากให้ประชาชนช่วยกันพิจารณาดูให้ดีว่า การบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนหรือไม่ แต่เชื่อว่าทุกคนรู้คำตอบดีว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ทั้งประชาชน เอกชน ผู้ประกอบการ โดยมีหลักการสำคัญ คือ “ขยะเกิดที่ไหน ต้องกำจัดที่นั่น” แต่ละท้องถิ่นต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่รัฐบาลมุ่งหวังจะทำเพื่อเอื้อประโยชน์ใคร แต่ต้องบูรณาการกฎหมายของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงให้ได้ ต้องทำให้ถูกต้อง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่อยากทำความเข้าใจให้ตรงกันจะได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศเรื่อง พ.ร.บ. ข้าว ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ร่างขึ้นมานั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ในประเด็นที่ว่า จะมีคนดูแลการประกอบการข้าวได้อย่างไร ทั้งเกษตรกร ผู้ค้าข้าว เพราะมันเป็นห่วงโซ่เดียวกัน ต้องดูแลทั้งหมด ในเรื่องของการผลิต ในการแปรรูป ในการตลาด ซึ่งสิ่งที่เน้นย้ำอย่างเดียว ดูแลต้นทางให้มากที่สุด เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และดูในเรื่องของตลาดนำการผลิต ดีมานด์-ซัพพลาย อุปสงค์-อุปทานให้ได้ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

ส่วนเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วันนี้น่ายินดี ธนาคารโลกประกาศผลการจัดลำดับความสามารถด้านโลจิสติกส์ ประจำปี 2561 โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้น 13 อันดับ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 7 ของเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปีที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนแผนงาน และจัดสรรงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จนสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้เห็นอนาคต ทั้ง รถไฟทางคู่,รถไฟความเร็วสูง , ท่าเรือ ขยายสนามบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ชี้แจงต่ออีกว่า การลงทุนต่างๆ จำเป็นต้องมี “เงินลงทุน” ทั้งจากการคลังหรือภาครัฐ บวก PPP รัฐร่วมเอกชน หรือ เอกชนลงทุนเอง แต่ต้องมีทั้ง 3 แบบร่วมกัน รัฐบาลลงทุนคนเดียวไม่ไหว แต่ก็มีผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่า และที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างยังเป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นใครลงทุนก็ตาม รัฐต้องได้ประโยชน์ ประชาชนได้รับการบริการ และ สามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงในเรื่องของรัฐสวัสดิการ ต่อไปในวันหน้าด้วย