เมนูที่แม่แนะนำ

“ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องสุขภาพอนามัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ดังคำกล่าวที่ว่า จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง

หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็จะมีสติปัญญาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพ สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ให้แก่ชาติบ้านเมือง ดังนั้นถ้าเราจะกล่าวว่า พลเมืองที่แข็งแรง ย่อมสามารถสร้างชาติต่างก็คงจะไม่ผิด” 

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2531  ยังคงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ยึดมั่นตามพระราชจริยวัตรด้านอาหารและโภชนาการ ที่พระองค์ทรงดูแลพระราชโอรส พระราชธิดาโดยโปรดให้เสวยอาหารให้เหมาะสมกับตามระยะพระชนมายุของทูลกระหม่อมทั้ง 4 พระองค์ 

แม้ในยามเสด็จแปรพระราชฐานไปทรงเยี่ยมราษฎรและประทับ ณ พระตำหนักในภาคต่างๆ โปรดให้นำอาหารพื้นบ้านและน้ำพริกตามท้องถิ่นต่างๆ ที่ราษฎรนำมาถวายขึ้นโต๊ะเสวย ล้วนอุดมไปด้วยคุณค่าโภชนาการสูง ตามบริเวณตำหนักที่ประทับทุกแห่ง มีพระราชเสาวณีย์ให้หาผักผลไม้ มาปลูก ตามความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งให้ตั้งข้าวสวยหุงจากข้าวซ้อมมือและข้าวขาวธรรมดา ให้ผู้มารับพระราชทานเลี้ยงได้เลือกตามอัธยาศัย ด้วยทรงตระหนักถึงคุณสมบัติของข้าวว่ามีวิตามินและแร่ธาตุสูง  

ฟาร์มตัวอย่าง ต้นทางแห่งความมั่นคงทางอาหาร 

ปีพ.ศ. 2540 ราษฎรชาวไทยภูเขาขอพระราชทานความช่วยเหลือเนื่องจากไม่มีอาชีพทำกิน  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินสร้างเป็นฟาร์มตัวอย่าง ที่บ้านขุนแตะ อำเภอจอมทอง และบ้านแม่ตุงติง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และจ้างราษฎรชาวไทยภูเขาและชาวไทยพื้นที่ราบผู้ไม่มีอาชีพทำกิน เพื่อฝึกให้มีความรู้ด้านการเพาะปลูก อันเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง ต่อมารัฐบาลจีนน้อมเกล้า ฯ ถวายสุกรพันธุ์จินหัวและเป็ดอี้เหลียง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ในลักษณะส่งเสริมให้สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย ปลูกไม้ไว้ใช้สอยและธนาคารข้าวพระราชทาน โดยเน้นให้พสกนิกรเป็นผู้ดำเนินการได้เอง  โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น กระทั่งมีแหล่งอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน รวมทั้งมีรายได้มั่นคง ตราบถึงปัจจุบัน 

แม้แต่ชาวเมืองยังได้รับพระเมตตา

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานของการสร้างแหล่งอาหารตามภูมิภาคต่างๆ แล้ว พระราชจริยวัตรในพระองค์ ยังประโยชน์ด้านการเผยแพร่ความรู้อาหาร นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต แพทย์หญิง แสงโสม สีนะวัฒน หนึ่งในคณะจัดทำหนังสือกินตามแม่ เพื่อสนองพระราชประสงค์ในการเผยแพร่ความรู้ที่แม่บ้านและประชาชนทั่วไปควรทราบ  

20180716233245089

แพทย์หญิง แสงโสม สีนะวัฒน

"หนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้น ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่ดิฉันเคยรับราชการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองโภชนาการ  มีความคิดว่า เรื่องกิน เรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นสิ่งที่พระองค์ท่าน สนพระราชหฤทัยมานานมาก ว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ฟาร์มตัวอย่างถือเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ มีหลายหน่วยงานร่วมมือกัน เกิดเป็นผลสำเร็จ  

เมื่อเรามีแหล่งอาหารแล้ว การรับประทานอาหารก็ต้องปลอดภัย ในเวลานั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงเกิดโครงการสืบสานปณิธานอาหารปลอดภัย ซึ่งหนังสือถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยดิฉันรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วน  

ส่วนแรก เป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องความสนพระราชหฤทัยเรื่องอาหารและโภชนาการ โครงการเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย ฟาร์มตัวอย่าง   

ส่วนที่สอง เป็นเหมือนคู่มือเลือกอาหารอย่างไรจึงปลอดภัย ไม่มีสารเจือปนมาก แนะนำวิธีการเลือกซื้อของสดในตลาด มีการประชาสัมพันธ์เรื่องโครงการตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัยโดยกระทรวงสาธารณสุขทำโครงการเลือกซื้อของ ของในบรรจุภัณฑ์ การตรวจสอบสิ่งตกค้างในอาหารที่ตลาด เป็นหน้าที่ของอย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กำกับดูแลอยู่ พร้อมคำแนะนำมารวมในหนังสือเล่มนี้ 

ส่วนที่สาม เป็นเรื่องเมนูอาหารที่เรารู้แล้วว่า เมื่อเลือกซื้อของสดมาแล้วหรือของในบรรจุภัณฑ์เป็นของมีคุณค่าทางโภชนาการ เราควรปรุงเป็นอาหารอะไรบ้าง มีเมนู 1 อาทิตย์ 7 วัน มีสามมื้อเช้า กลางวันเย็นให้ผู้อ่านเลือก คุณสามารถสลับไปมา ตามความชอบใจ เรารวบรวมอาหารทั้งหมด 21 เมนู (ดูรายละเอียดในตาราง) โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ คุณค่าอาหารที่ดีและอร่อย ลำพังอาหารสะอาดหรือมีคุณค่าคนไม่อยากกินหรอก แล้วในตำรับอาหารยังระบุวิธีการปรุง มีเครื่องปรุงจำนวนเท่าไหร่โดยใช้หน่วยวัดเป็นช้อนทัพพี เพื่อง่ายต่อการมองเห็น เราไม่ใช้หน่วยตวงวัดเป็นกรัมที่ได้จากเครื่องชั่งเพราะไม่ใช่ทุกบ้าน หรือทุกคนจะมีเครื่องมือแบบนี้ 

ตาราง 1

อีกทั้งพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ยังเป็นที่มาการเซตเมนูต่างๆ โดยทีมงานจากอย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาช่วยคัดเลือกอาหารท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ที่มีคุณค่าของสารอาหารหลากหลาย เป็นอาหารสุขภาพ สามารถปรุงได้ที่บ้าน ถ้าเมนูอาหารจานใดไม่ดี มีแต่ไขมันหรือรสเค็มนำ เกลือเยอะมาก เราก็ไม่เลือกมาลงในหนังสือ  

ในบรรทัดท้ายๆ  คณะจัดทำหนังสือ 'กินตามแม่' เพิ่มความน่าสนใจแก่ผู้อ่าน ด้วยการสอดแทรกจุดเด่นของอาหารจานนั้นq เข้าไป เช่น อาหารจานนี้มีวิตามินเอสูงหรือแร่ธาตุอะไรป้องกันโรคอะไรได้บ้าง เพื่อให้ดูน่ารับประทาน ซึ่งหลังจากที่ต้นฉบับตีพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว นำมาจำหน่ายนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและมีบางส่วนสมทบทุนโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ พร้อมกับแจกจ่ายตามโรงเรียน สถานศึกษาและวัดวาอารามต่างๆ ราว 60,000 -70,000 เล่มทั่วประเทศ 

ตาราง 2

ดิฉันยังจำวันที่เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในอีก 1 ปีถัดมาได้ดี ทรงขอบใจคณะทำงานหนังสือเล่มนี้ ดิฉันเองก็ภูมิใจที่ได้เผยแพร่ข้อมูลด้านต่างๆ แก่ประชาชน ซึ่งเรื่องอาหารการกิน มีผลต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก  ทุกวันนี้่เรายังคงต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมของคนไทยที่เรียกตามคำศัพท์ใหม่ว่า เนือยนิ่ง หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีส่วนทำให้เกิดโรคที่ไม่ติดต่อ มีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่มีไขมัน แป้ง เกลือหรือน้ำตาลในปริมาณสูงเกินความจำเป็นของร่างกาย 

เรากินอาหารสจัดจนชิน เช่น หวานแล้วอร่อย เป็นรสชาติที่เราชอบ ถ้าไม่หวานไม่กิน ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลตลอดเวลา เกิดการสะสมในร่างกาย ส่งผลให้เส้นเลือดผิดปกติ เท่ากับว่าอาหารพาโรคมาหาเรา ดังนั้นการกินอย่างไรให้มีสุขภาพดี ได้แคลอรี่เหมาะสมกับความต้องการของร่ายกายแต่ละวัน อายุ เพศ สภาพของร่างกาย เช่นป่วย ตั้งครรภ์ ให้นมลูก มีส่วนสัมพันธ์กับอาหาร ถ้าเราสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยง เราก็ป่วยน้อยลงไปอีก ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาพยาบาล คุณภาพชีวิตของลูกหลานก็ดีไปด้วย"