ฝากรบ.ใหม่เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำ ปชช.ได้ประโยชน์แท้จริง

ฝากรบ.ใหม่เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำ ปชช.ได้ประโยชน์แท้จริง

"ฉัตรชัย" เผยรัฐบาลพ้นหน้าที่หลังเลือกตั้งฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้ำอยากเห็นรัฐบาลใหม่เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ปชช.จะได้ประโยชน์แท้จริง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมหรรษา เจบี จังหวัดสงขลา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนา "การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ภาคใต้" โดยมีนายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา คณะกรรมการลุ่มน้ำ ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การจัดเสวนาดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และตนเองเป็นรองประธาน โดยให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้รับรู้แผนงานและผลงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล

รวมทั้งสร้างความเข้าใจและรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ปี 2561 โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทำได้อย่างถูกต้องทันเวลา โดยเฉพาะในประเด็นความพร้อมของแผนงาน การบริหารจัดการในการรับมือกับภัยจากน้ำ

รัฐบาลได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้แผนนี้สามารถนำไปปรับใช้กับทุกภูมิภาคได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเพื่อการสร้างรับรู้ให้ประชาชนทราบว่า แผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจากนี้ไปจะมีขั้นตอนที่ชัดเจน ลดความซับซ้อนจากทุกหน่วยงานลง และนำแผนบริหารจัดการน้ำนี้ เป็นตัวหลักที่จะขับเคลื่อนเรื่องน้ำของประเทศไปอีก 20 ปี เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ แต่หลายพื้นที่มีปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่จะเจอกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน

การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง ก็เชื่อว่าจะสามารถลดผลกระทบต่อประชาชนได้ ขณะเดียวกันน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยหลักของภาคใต้ ดังนั้นหากสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจภาพรวมของพื้นที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ สทนช.จะลงพื้นที่ให้ครบทั้ง 4 ภาค แล้วนำรายละเอียดทั้งหมดมาปรับปรุงแผน โดยยึดหลักปรับแผนให้ตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ปัญหาเหมาะสมกับทุกพื้นที่และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด" รองนายกฯ กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะเริ่มดำเนินการในปี 2562 เช่นที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี และใช้งบประมาณที่สูง ดังนั้น การที่หลายคนมองว่าทำไมมีแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อีก ก็ต้องเรียนว่าขั้นตอนการจัดทำแผน ต้องใช้เวลาพอสมควร บางครั้งอาจจะประมาณ 2 ปี เพราะต้องรับฟังและประชาพิจารณ์ การทำ EIA ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ แต่เมื่อเริ่มนับหนึ่งแล้ว ในวันข้างหน้าก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในเวทีเสวนาครั้งนี้ ตนเองได้ฝากกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลจะต้องพ้นหน้าที่ หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็อยากเห็นรัฐบาลชุดต่อๆ ไป เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เพราะถ้าสามารถทำตามนี้ได้ทั้งหมด ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้านนายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการจัดเสวนาในระดับพื้นที่ครั้งที่ 4 ในภาคใต้ เป็นครั้งสุดท้าย โดยเป็นการเสวนาเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลาก ปี 2561 พร้อมทั้งยังมีการจัดนิทรรศการ หัวข้อแผนปฏิบัติการจัดการน้ำหลาก ปี 2561 ในระดับพื้นที่ (จังหวัด) ทั้งนี้ ภาคใต้มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ แต่ในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักจะประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมและพายุที่พัดเข้ามาโดยตรง สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก

ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ทั่วประเทศรวม 29.70 ล้านไร่ พบว่า มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561 - 2580) รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ และในช่วงปี 2562 - 2565 มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออก 2 โครงการ ภาคใต้ จำนวน 2 โครงการ โดยมีโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 9 โครงการสำคัญที่รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ในปี 62 ด้วย