'ติดเกม-โซเชียล-ช้อปปิ้ง' อาการเสพติดต้องบำบัด จับติดคุกไม่หาย!!

'ติดเกม-โซเชียล-ช้อปปิ้ง' อาการเสพติดต้องบำบัด จับติดคุกไม่หาย!!

"ไพบูลย์" ชื่นชมฝรั่งเศสห้ามเด็กนักเรียนเล่นโทรศัพท์-แท็บเล็ต เหตุทำลายสมอง องค์การอนามัยโลกเพิ่มชื่อโรคติดเกมในกลุ่มโรคการสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "การเสพติดย้อนอดีตสู่อนาคต ปัญหาและทางออก" โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยเลือกจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่านั้น เพราะยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง วันนี้เรากำลังพูดถึงสิ่งเสพติดที่มีผลต่อสมองซึ่งไม่ใช่ของใหม่ สิ่งเสพติดและยาเสพติดเป็นโรคทางสมองต้องแก้ด้วยหมอ ไม่ใช่กระบวนการทางอาญา

เราต่อสู้กับยาเสพติดมานานยังไม่สามารถปรับทัศนคติของคนในชาติได้เลยว่า การนำเขามาติดคุกไม่ช่วยให้เลิกได้ ในประเทศเยอรมันและกลุ่มสแกนดิเนเวียร์คนเสพติดไม่ถูกจับติดคุก แต่เราไม่กล้าทำ เราไม่มีทางเอาชนะยาเสพติด ปัญหาคือจะอยู่กับมันอย่างไร ต่างประเทศเขาก้าวไปแล้วคุกของเขาจึงว่าง การแก้กฎหมายยาเสพติดไม่ได้ทำเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ อย่าพูดแบบนั้นเพราะไม่ใช่การปล่อยอาชญากร แต่การแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไปแก้ไขที่อาการทางสมอง ซึ่งเป็นกลไกทางการแพทย์ที่กำหนดอยู่ในร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ต่อไปนี้ยาเสพติดจะอยู่ในกระบวนการของป.ป.ส. มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ ส่วนในเรื่องของสิ่งเสพติดท่านหาเจ้าภาพเจอหรือยัง เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์รู้กันมานานแล้ว เป็นห่วงนโยบายแห่งรัฐ ห่วงว่ากระทรวงสาธารณสุขเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากแค่ไหน หลายประเทศเอายาเสพติดไปอยู่กับสาธารณสุขไม่ได้อยู่กับกระทรวงความมั่นคง

หลังการสัมมนาต้องเสนอต่อรัฐให้ได้ว่าองค์กรใดควรเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา เพราะสิ่งเสพติดอยู่ในโลกนี้ไม่มีใครสามารถนำออกไปจากโลกนี้ได้ จะทำอย่างไรให้คนเสพไม่เป็นภัยต่อสังคม ต้องเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมไม่ใช่ภาระของชาติ และเป็นคนเสพที่ไม่ใช่อาชญากร ขณะที่คนในสังคมต้องไม่มองเขาเป็นขยะสังคม กฎระเบียบจำเป็นต้องมีแต่ต้องทำความเข้าใจควบคู่ไปด้วย

ผมเป็นทหารอาชีพ เป็นทหารชายแดน เกิดมาจากกระบวนการอาญา เคยจับมาตลอด วันนี้ผมยังเปลี่ยนใจว่ามันไม่ใช่ สิ่งเสพติดเป็นโรคทางสมอง ทำลายสมอง เหล้าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่ขายถูกต้องตามกฎหมาย แอลกอฮอล์ทำลายชีวิตและทรัพย์สินมากกว่ายาเสพติด แต่สังคมไทยไม่ยอมรับ ฝรั่งเศสห้ามเด็กนักเรียนประถมและมัธยมใช้โทรศัพท์และแทปเล็ตเพราะเขายอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ทำลายสมอง

ขณะที่ประเทศของเรายังยอมรับบุหรี่ สุรา ภาษีดีหรืออย่างไร ส.ส.ส.ช่วยตอบหน่อย จะทำอย่างไรเพื่อปรับทัศนคติของคนในชาติ ถ้าไม่แก้กฎหมายก็ไปต่อไม่ได้ สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีพยายามแก้กฎหมายยาเสพติดที่กระจายอยู่ในกฎหมาย 7-8 ฉบับ วันนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดกำลังจะออกมา เป็นกฎหมายที่จัดการยาเสพติดด้วยกระบวนการสาธารณสุข การบำบัดฟื้นฟู เมื่อพูดถึงเรื่องสิ่งเสพติดต้องคิดว่าจะจัดให้องค์กรใดมารองรับ ไม่ใช่สัมมนา 5 ครั้ง ยังหาคนทำงานไม่ได้ การแก้ปัญหาทำไม่ได้ด้วยการเดินสายสัมมนา ต้องมีคนสั่งการให้ทำทันที ต้อง How to do ผมเคยสั่งให้แก้กฎหมายก็คือต้องทำ ห้ามเถียง มันต้องมีคนแบบนี้จึงแก้ปัญหาได้

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานวิจัยของกรมแพทย์ทหารสหรัฐอเมริกายืนยัน เรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเสพติดเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ความล้มเหลวทางศีลธรรม และการเสพติดไม่จำเป็นต้องมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ 60 ปีที่แล้วไทยมีนักโทษแค่ 6,000 คน ปี 2520 นักโทษเพิ่มเป็น 75,000 คน ปัจจุบัน 356,000 คน เป็นจำนวนประชากรของไอร์แลนด์ทั้งประเทศ

โดยนักโทษส่วนใหญ่หรือไม่น้อยกว่า 220,000 คน เป็นนักโทษคดียาเสพติด จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ออกไปทำประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคมได้ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เสพอีกนับแสนคนในสถานบำบัดต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเสพติดล้อมพวกเรา นำหลายคนไปสู่สิ่งผิดกฎหมาย และไม่สามารถฟื้นกลับมาได้

สำหรับรายงานวิจัยของ Steve Sussman Univercity of Southern Califorinir ในปี 2017 พบว่ามีพฤติกรรมเสพติด 11 ชนิด คือ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การเสพยาเสพติดชนิดร้ายแรง การรับประทานอาหาร การพนัน สื่อทางอินเตอร์เน็ตและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ความรัก เพศสัมพันธ์ การออกกำลังกาย การทำงาน และการซื้อของ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตสมัยใหม่ นำไปสู่การเกี่ยวข้องกับการเสพติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันพฤติกรรมการเสพติดของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เกิดจากยาเสพติดเท่านั้น

แต่มีการเสพติดในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดอินเตอร์เน็ต ติดโซเซียล ติดเกม ติดช้อปปิ้ง ติดการพนัน ติดการมีเพศสัมพันธ์ ติดการออกกำลังกาย ติดการทำงาน เสพติดความร่ำรวย ซึ่งพฤติกรรมเสพติดเป็นการทำกิจกรรมเดิมๆซ้ำซากโดยหักห้ามใจไม่ได้แม้จะส่งผลเสียต่อชีวิต และมีงานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การเสพติดทำให้เกิดการตอบสนองในสมองด้วยรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังใช้ยาเสพติด สำหรับประเทศไทยคุ้นเคยว่าการเสพติดคือยาเสพติด ปัจจุบันไทยมีประชากร 69 ล้านคน มากเป็นลำดับที่ 20 ของโลก มีผู้ต้องขังมากเป็นลำดับที่ 6 ของโลก

ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศใช้การจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ICD-11 มีการเพิ่มเติมชื่อโรคในกลุ่มต่างๆมากถึง 55,000 ชื่อ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 14,400 ชื่อ โรคติดเกมถูกเพิ่มชื่อในบัญชีจำแนกโรค กลุ่มโรคการสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง (addictive disorders) ในการเล่นวิดีโอเกม หรือเกมดิจิตอลต่างๆ ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือกิจกรรมอื่นๆ โดยเล่นเกมต่อเนื่องมากกว่า 12 เดือน

ต่อมาเป็นการบรรยายเรื่อง Globalization of Addiction โดยนายบรูซ์ อเล็กซ์ซานเดอร์ (Prof.Bruce Alexander) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ กล่าวว่า ตนภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้เสพยาหลายคน แต่เมื่อไม่นานตนได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกชายเพื่อนสนิทที่เสพกัญชาและแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต ทำให้เรียนรู้ว่ายาเสพติดมีพลังที่เข้มแข็งมาก ทุกวิธีการไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา โดยในปี 1980 รัฐแวนคูเวอร์ ประสบปัญหาโรคพิษสุราเรื้อรัง เราแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎหมายสั่งห้ามจำหน่าย แต่เมื่อยกเลิกคำสั่งปัญหาก็กลับมาเช่นเดิม

ดังนั้น แทนที่จะประกาศสงครามกับสุราก็ทำให้ถูกกฎหมาย และจำกัดอายุผู้ซื้อ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาได้ครึ่งทาง แต่ยังมีคนต้องบำบัดรักษา เช่นเดียวกับการแก้ปัญหายาเสพติดประเภทอื่นการเปลี่ยนผ่านจะมีความแตกต่างมาก แต่ปัญหาไม่ได้แก้ไขได้ง่ายและรวดเร็ว ต้องใช้ความอดทน จำกัดพื้นที่สงวนสำหรับผู้เสพยา และมีเมตตากับผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งผลลัพธ์สามารถจับต้องได้ มีคนตายจากการเสพยาน้อยลง และมีนักโทษคดียาเสพติดน้อยที่สุดติดอันดับโลก แม้ผลลัพธ์จะจับต้องได้ แต่ยังมีผู้เสพยาเสพติดทุกประเภทอยู่มาก

นายบรูซ์ กล่าวอีกว่า โลกาภิวัตน์การเสพติดในโลกสมัยใหม่มีความรุนแรงมากกว่าภาวะโลกร้อน และน่าเป็นห่วงสำหรับเยาวชนของทุกๆ ครอบครัว เพราะสิ่งเสพติดสมัยใหม่เกิดจากการทำพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำซาก การใช้โซเซียลโดยที่คนทำพฤติกรรมไม่รู้ตัว เมื่อเสพติดสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำให้ชีวิตเขาครึ่งหนึ่งหายไปจากครอบครัว และไม่มีทางกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม ปัญหาที่เกิดจากสิ่งเสพติดที่ไม่ใช่ยาเสพติดมีมากกว่าที่เราจะคิดไปถึง ทั้งปัญหาการติดสุราเรื้อรัง ทำลายสมองและเสียทรัพย์สิน การแก้ปัญหาการเสพติดในโลกยุคใหม่เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลา เพราะโลกาภิวัฒน์ของโลกยุคใหม่มีการขับเคลื่อนและมีพลังมหาศาล ดังนั้น จะทำอย่างไรจะรู้เท่าทันและอยู่รอดในโลกยุคใหม่ได้