จับตาตลาดรีเทลเอี่ยวอสังหาฯ แนวโน้มการเติบโต และการเปลี่ยนแปลง

จับตาตลาดรีเทลเอี่ยวอสังหาฯ แนวโน้มการเติบโต และการเปลี่ยนแปลง

จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอสังหาฯ เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยธุรกิจรีเทลเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจในตลาดอสังหาฯ

เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ตลาดรีเทลของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับตลาดรีเทลในประเทศอื่นๆ ที่โดนผลกระทบจากตลาดออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค

ตลาดรีเทลเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบการต่างเร่งพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อแข่งขันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่ โดยตั้งแต่ศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอนเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นเหตุให้ศูนย์การค้าชั้นนำหลายแห่งทำการปรับปรุงพื้นที่ โดยเฉพาะย่านพระราม 1 ราชประสงค์ เพลินจิต และสุขุมวิท พื้นที่เช่าเฉลี่ยในย่านนี้ ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนพระราม 1 สยามดิสคอวเวอรี่ ตลอดแนวจนถึงสุขุมวิทตอนกลาง และเอ็มควอเทียร์ ในปัจจุบันมีอัตราว่างของพื้นที่เฉลี่ยน้อยกว่า 5% อีกทั้งค่าเช่ายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ร้านค้าอาจต้องรอเป็นปีเพื่อให้ได้พื้นที่เช่าในห้างดังหลายๆแห่ง ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจหลักในการดึงดูดลูกค้าของห้าง โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยยังเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อตลาดรีเทลของไทยอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมารายได้จากนักท่องเที่ยวเติบโตร้อยละ 11.66

เกษร ทาวเวอร์เป็นซัพพลายล่าสุดในย่านพระราม1-สุขุมวิท ซึ่งทำการเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วด้วยพื้นที่เช่าเชิงพาณิชยกรรมกว่า 10,000 ตารางเมตร ทำให้ตลาดรีเทลในย่านพระราม1-สุขุมวิท มีพื้นที่เช่ารวมที่ประมาณ 660,000 ตารางเมตร ค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,900 บาท/ตารางเมตร/เดือน และมีอัตราการเช่าที่ 96.4%

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินขนาดใหญ่ในย่านพระราม 1 ราชประสงค์ต่อเนื่องไปถึงสุขุมวิทตอนกลางในปัจจุบันหาได้ยากมากและราคาที่ดินสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มีซัพพลายใหม่ๆในย่านนี้เกิดขึ้นอย่างจำกัด ผู้ประกอบการจึงให้ความสนใจในการเช่าที่ดินระยะยาวมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังมองหาทำเลใหม่ๆในโซนอื่นของกรุงเทพฯและปริมณฑลมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับพฤติกกรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลายผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจในการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

นายธีรวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวว่า “ตอนนี้มีหลายธุรกิจที่ต้องการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โคเวิร์กกิ้ง สเปซ หรือแม้กระทั้ง ศูนย์บริการความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ โดยมองว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสที่ดีของหลายธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบของตลาดรีเทลไทย”

2_10

นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยียังเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันโดยเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมกันนี้ ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่หันมาให้ความสนใจกับสุขภาพอย่างจริงจัง โดยจะเห็นได้จากกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่างๆที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังต้องการความสะดวกสบายที่จะเข้าถึงสุขภาพที่ดี จึงทำให้เกิดธุรกิจเพื่อสุขภาพเช่นฟิตเนสหรือคลาสสุขภาพต่างๆ โดยสถานที่ออกกำลังกายกระจายอยู่ในแทบทุกอาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ รวมถึงอาคารสำนักงานต่างๆ ธุรกิจฟิตเนสในไทยเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา หลายแบรนด์ดังมีแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ฟิตเนสเชนส่วนมากจับกลุ่มตลาดระดับบนและส่วนมาก ฟิตเนสระดับกลางจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้เกิดช่องว่างทางการตลาดของฟิตเนสระดับกลาง

เมื่อความสะดวกสบายและเทรนด์สุขภาพมารวมกัน จึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจเพื่อสุขภาพ 24 ชั่วโมง โดยฟิตเนสที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 แบรนด์ จากต่างประเทศเล็งเห็นถึงช่องว่างและความเป็นไปได้ทางการตลาดในไทย และได้เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาด แต่ละรายพยายามหาพื้นที่เช่าที่แตกต่างออกไปจากฟิสเนสที่เคยเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยความต้องการหลักคือต้องการเช่าพื้นที่ชั้นล่าง ที่มองเห็น – เข้าออก - เดินทางได้สะดวก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความต้องการและยอมรับ “คงต้องใช้เวลาซักพักที่จะทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการหลายๆ รายว่า ฟิตเนสจะสามารถเป็นตัวดูดลูกค้าเข้ามาในพื้นที่ได้เหมือนสตาร์บัคหรือแมคโดนัล” นายธีรวิทย์กล่าว

อนาคตตลาดรีเทลยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีเสน่ห์ที่น่าสนใจ สิ่งที่จะท้าทายผู้ประกอบการคือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำอย่างไรที่จะดึงจุดเด่นทางเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความแตกต่าง เพื่อให้สามารถแข่งขันและตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้สูงสุด