บอร์ดบีโอเจเสียงแตกเรื่องเงินเฟ้อ-การปรับนโยบาย

บอร์ดบีโอเจเสียงแตกเรื่องเงินเฟ้อ-การปรับนโยบาย

รายงานสรุปความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในการประชุมเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาชี้ว่า คณะกรรมการมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องของแนวโน้มการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ และทิศทางที่เหมาะสมของการใช้มาตรการกระตุ้นด้านการเงิน

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจที่จะทำให้การผ่อนคลายมาตรการต่างๆมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดทางให้ผลตอบแทนระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม และทำให้การซื้อสินทรัพย์มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

รายงานยังระบุด้วยว่า บอร์ดหลายรายมองว่า เงินเฟ้อนั้นอ่อนตัวลงกว่าคาดการณ์ แต่คาดว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆปรับขึ้นสู่ระดับเป้าหมายของบีโอเจในที่สุด ขณะที่บอร์ดรายหนึ่งกล่าวว่า จังหวะของการปรับตัวขึ้นของราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่นับรวมอาหารสดนั้น มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นปานกลาง

ส่วนบอร์ดอีกราย กล่าวว่า คงจะต้องใช้เวลามากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างไรก็ดี ช่องว่างของผลผลิตยังคงเป็นบวก และมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม บอร์ดอีกรายโต้แย้งว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อยังคงแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ค่อนข้างจะอ่อนแรง ภายใต้นโยบายปัจจุบัน ความเป็นไปได้ของอัตราเงินเฟ้อที่จะค่อยๆปรับตัวขึ้นไปถึง 2% นั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

รายงานสรุปนี้ รวบรวมโดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจแต่ไม่ได้มีการระบุชื่อบอร์ดเป็นรายบุคคลแต่อย่างใด

นอกจากนี้ บอร์ดยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงรุกต่อไป เพื่อยกระดับเงินเฟ้อ แต่ก็ควรจะระมัดระวังเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ

บอร์ดรายหนึ่ง กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องใส่ใจอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียง และตรวจสอบว่า จะสามารถทบทวนกรอบนโยบายได้หรือไม่ เพื่อลดผลกระทบข้างเคียงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลของบีโอเจ ถูกวิจารณ์ในแง่ที่ว่า ดูดซับสภาพคล่องในตลาด และยังทำให้ปริมาณการซื้อขายร่วงลงในที่สุด และในการประชุมเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบีโอเจ ได้ลงคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ให้คงระดับเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% และยังเปิดทางให้ผลตอบแทนพันธบัตรสามารถปรับตัวขึ้นและลงได้ในระดับหนึ่ง

บอร์ดรายหนึ่ง กล่าวด้วยว่า การควบคุมอัตราผลตอบแทนระยะยาวด้วยวิธีการที่ยืดหยุ่นนั้น มีแนวโน้มว่า จะมีส่วนช่วยคงและปรับปรุงระบบการทำหน้าที่ในตลาด  โดยบอร์ด 2 รายที่มีมุมมองสายพิราบที่ลงคะแนนเสียงค้านมาตรการดังกล่าว ได้แก่ โกจิ คาตะโอกะ และยูตากะ ฮาราดะ