แนะประชาชน 'ตั้งสติ' พร้อมรับมือน้ำท่วมล่วงหน้า ช่วยลดความเครียดได้

แนะประชาชน 'ตั้งสติ' พร้อมรับมือน้ำท่วมล่วงหน้า ช่วยลดความเครียดได้

กรมสุขภาพจิต แนะประชาชน “ตั้งสติ” เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมล่วงหน้า จะช่วยลดความเครียดได้

วันนี้ (7 สิงหาคม 2561) นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีตามประกาศแจ้งเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งจะทำให้มีน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่ม 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี จะเคลื่อนตัวถึงอำเภอเมืองเพชรบุรีและอำเภอบ้านแหลม ในวันนี้ เวลา 24.00 น.เป็นต้นไปว่า ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะมีผลกระทบจากการระบายน้ำครั้งนี้ อย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตระหนักและตั้งสติรับมือกับน้ำท่วมที่เรารู้ล่วงหน้าแล้ว โดยขอให้ประชาชนปฎิบัติ 4 ประการดังนี้

1.ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสน้ำท่วมซ้ำอีกหรือพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมใหม่ ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากทางราชการเป็นหลัก เพื่อลดการตื่นตระหนก และความวิตกกังวล

2.ให้ตั้งสติ อย่าตกใจ และให้คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อย แก้ไปทีละข้อ จะลดความกังวลได้ จัดเตรียมสำรองอาหารแห้ง น้ำดื่มให้เพียงพออย่างน้อย 3 วัน กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมทั้งสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม หากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริง ก็จะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ทันที ซึ่งจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้ และจะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้มาก ผลกระทบความเครียดจะลดน้อยลง

3.สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรค ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เพื่อหยิบง่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ห้ามขาดยา เพราะอาการจะกำเริบได้ แนะนำให้ครอบครัวผู้ป่วยช่วยตรวจสอบจำนวนยา หากพบยาใกล้หมด หรือยากินสูญหาย ไม่ต้องรอให้มีอาการป่วยก่อน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้บางพื้นที่ประชาชนยังเดินทางยากลำบาก ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลตามนัดได้ ให้รีบแจ้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรืออสม.หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ประการสำคัญการได้รับยาต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติได้ หากปล่อยให้อาการกำเริบบ่อยๆ จะส่งผลเสียอาจเกิดอาการทางจิตรุนแรงขึ้น การรักษาจะยุ่งยากขึ้น

4.ควรจดเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยไว้ประจำบ้าน ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 , สายด่วนกู้ชีพ 1669 , สายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดภาวะจำเป็นเร่งด่วน

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้การดูแลจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตที่มี 33 แห่งทั่วประเทศครอบคลุมทุกภาค เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษาด้านอารมณ์จิตใจ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่ายของโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด นายแพทย์ชิโนรสกล่าว