สุดซึ้ง! 'ราชทัณฑ์' ให้โอกาสนักโทษชั้นเลว-เลวมาก กราบเท้าแม่

สุดซึ้ง! 'ราชทัณฑ์' ให้โอกาสนักโทษชั้นเลว-เลวมาก กราบเท้าแม่

"กรมราชทัณฑ์" ให้โอกาสนักโทษคดียาเสพติดชั้นเลว-เลวมาก ได้รับโอกาสเยี่ยมญาติใกล้ชิด ให้กราบ-เวันแม่,เรือนจำ,อธิบดีกรมราชทัณฑ์ช็ดเท้า พ่อแม่ หวังกระตุ้นให้ปรับปรุงตัวเป็นคนดี

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานเปิดโครงการสำนึกรักบุพการี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 12 สิงหาคม 2561 เพื่อให้กับผู้ต้องขังคดียาเสพติดชั้นต้องปรับปรุง (ชั้นเลว) และชั้นต้องปรับปรุงมาก (ชั้นเลวมาก) ซึ่งปกติแล้วนักโทษกลุ่มนี้จะถูกตัดสิทธิไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยมใกล้ชิด แต่เพื่อเป็นการให้โอกาสให้ได้ปรับปรุงความประพฤติในวันแม่ปีนี้จึงจัดให้นักโทษได้กราบขอโทษบุพการี เพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่ให้สายสัมพันธ์แห่งครอบครัวขาดหายไประหว่างถูกคุมขัง

โดยเจ้าหน้าที่เตรียมพวงมาลัยให้ผู้ต้องขัง 100 คน กราบบุพการีของตัวเอง และใช้ผ้าเช็ดเท้าพ่อแม่เพื่อขอโทษถึงสิ่งที่ทำผิดพลาดจนถูกคุมขัง พร้อมทั้งให้ครอบครัวและผู้ต้องขังรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อพูดคุยให้กับกำลังใจ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความตื้นตัน แต่ละครอบครัวได้สวมกอดและแสดงความรักต่อกัน หลังจากที่ไม่เคยได้รับโอกาสในการเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิดมาก่อน

นายสมจิตร (สงวนนามสกุล) บิดาของ นช.จักร (นามสมมุติ) ผู้ต้องโทษคดีค้ายาเสพติดอายุ 39 ปี กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนมีอาชีพค้าขายไม่มีเวลามาเยี่ยมลูก เมื่อครบกำหนดเยี่ยมทุกๆ 6 เดือน ก็จะขอให้คนอื่นมาเยี่ยมแทน เวลาเรากินอิ่มก็จะนึกถึงลูกว่าได้กินอิ่มไหม อยู่ในเรือนจำจะลำบากและนอนหลับหรือไม่ วันนี้ตนมาเป็นตัวแทนแม่ เพราะแม่เขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2544 ก็ได้ให้กำลังใจเขา บอกให้เขากลับตัวเป็นคนดี เพราะอย่างไรเขาก็คือลูกของเรา

ขณะที่นช.จักร กล่าวว่า ปกติตนไม่เคยได้แสดงความรักกับพ่อแม่ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ทำก็รู้สึกดีที่ได้แสดงความรัก และบอกรักพ่อ เมื่อพ้นโทษออกไปตนจะช่วยพ่อขายของ ไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

ด้านบิดาและมารดาของ นช.เล็ก อายุ 28 ปี ผู้ต้องโทษคดีครอบครองยาเสพติดประเภทกัญชา และนช.เดี่ยว อายุ 30 ปี ผู้ต้องโทษคดีจำหน่ายยาไอซ์ ซึ่งนักโทษทั้ง 2 รายเป็นพี่น้องกัน กล่าวว่า ครอบครัวของตนจะหาเวลามาเยี่ยมนช.เล็กบ่อยๆ เพราะทำผิดครั้งแรก ส่วนนช.เดี่ยว พี่ชายนานๆ จะได้เข้าเยี่ยมสักครั้ง ปกติในครอบครัวจะแสดงความรักกันเป็นประจำ ลูกๆ จะเข้ามากอดมาอุ้มพ่อแม่ตลอด วันนี้ตนได้ให้กำลังใจลูกทั้งสอง เมื่อทำผิดก็ต้องยอมรับผิดและเริ่มชีวิตใหม่ไม่กลับไปทำแบบเดิม แต่ทำตัวให้ดีกว่าเดิม

ด้านนช.เล็ก กล่าวว่า แม้ปกติพวกตน 2 คน พี่น้องจะแสดงความรักและกราบพ่อแม่อยู่แล้ว แต่การได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็ทำให้มีความสุข เพราะพ่อกับแม่ก็ให้กำลังใจเพื่อให้พวกตนปรับปรุงตัวกลับไปเป็นคนดีกว่าเดิม

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยดูถูกเหยียดหยามผู้ต้องขัง แต่มองพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมชาติและเป็นศูนย์กลางที่ต้องได้รับการแก้ไจ ในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง จึงต้องการให้ผู้ต้องขังมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและใช้ความผูกพันความอบอุ่นของคนในครอบครัวโดยเฉพาะบิดามารดา ซึ่งจะเป็นสื่อในการโน้มน้าวจิตใจให้เกิดจิตสำนึกย้อนทบทวนความผิดพลาดในอดีตปรับเปลี่ยนทัศนคติ มาเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ โดยตลอดเดือนสิงหาคมนี้ทุกเรือนจำจะเปิดโอกาสให้พ่อแม่ของผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิด

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยด้วยว่า กรมราชทัณฑ์มีมติเห็นชอบปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดให้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำนวน 3,066 ราย ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม แบ่งเป็นผู้ได้รับการปล่อยตัวจากการพักการลงโทษ 1,006 ราย และผู้ได้รับการปล่อยตัวจากการลดวันต้องโทษ 2,060 ราย ซึ่งผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเหล่านี้เป็นผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีอยู่ในระเบียบวินัย ผ่านการพัฒนาพฤตินิสัยและการฝึกทักษะอาชีพ ช่วยเหลืองานของทางราชาการ จนได้รับประโยชน์จากการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก การปล่อยตัวในครั้งนี้กรมราชทัณฑ์ได้มอบให้เรือนจำและทัณฑสถานต่างๆจัดพิธีให้ผู้ได้รับการปล่อยตัวร่วมปฏิญญาตนเป็นคนดีของสังคมเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กรกฎาคม

"กรมราชทัณฑ์ได้นำกลไกความร่วมมือในการติดตามสอดส่องและให้ความช่วยเหลือผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับการปล่อยตัวราย พร้อมประสานการส่งต่อการดูแลผู้พ้นโทษผ่านกระบวนการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและสำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่ ตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำและสร้างความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากผู้ได้รับการพักการลงโทษฝ่าฝืนเงื่อนไขการคุมประพฤติจะถูกจับกุมตัวกลับมารับโทษจำคุกในส่วนที่ได้รับการพักโทษไว้ และหากออกไปกระทำความผิดซ้ำจะต้องได้รับโทษในคดีใหม่บวกกับจำนวนวันต้องโทษเดิมที่ได้รับการพักโทษ" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

ทั้งนี้การพักโทษและการลดวันต้องโทษจำคุก เป็นหนึ่งในแนวทางลดความแออัดของผู้ต้องโทษภายในเรือนจำต่างๆ ที่ปัจจุบันมีปัญหาจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมีผู้ต้องขังมากกว่า 360,000 ราย จากปกติที่ความจุในเรือนจำสามารถรองรับนักโทษได้เพียง 120,000 ราย แต่การจะพิจารณาให้ผู้ต้องโทษได้รับสิทธิ์พักโทษหรือลดวันต้องโทษ จะต้องผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด