ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องช่วงนี้!

ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องช่วงนี้!

"จรุงวิทย์" ยันตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องช่วงนี้เพื่อเตรียมคนให้พร้อมเลือกตั้งส.ว.หลังกม.ใช้ก.ย.นี้ปัดให้ความเห็นเนื้อหาแก้ไขพ.ร.ป.กกต.-เจตนาของสนช.

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิเสธให้ความเห็นต่อเนื้อหาของร่างแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมคณะยื่นรับฟังความเห็น เพื่อแก้ไขกรณีการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ระบุเพียงว่าต้องขอเอกสารและความเห็นรายละเอียดที่เป็นทางการเมื่อสนช.ส่งถึงสำนักงาน กกต. ก่อนพร้อมกับปฏิเสธไม่มองเจตนาของสนช. บางกลุ่มว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานหรือไม่

ทั้งนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยืนยันถึงความจำเป็นที่ กกต. ออกประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทั้ง 77 จังหวัด รวม 616 คน ว่าเป็นขั้นตอนที่กำหนดเวลาไว้ โดยขณะนี้รายชื่อดังกล่าวยังไม่ใช่การประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบประวัติและความประพฤติ รวมถึงคุณสมบัติ ซึ่งให้ทางสำนักงาน กกต.จังหวัดดำเนินการติดประกาศและรับแจ้งข้อมูล จนถึงวันที่ 16 สิงหาคมนี้

จากนั้นประมาณ 10 วันทางจังหวัดจะส่งให้กกต. พิจารณาว่ามีผู้คัดค้านรายชื่อใดหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือ ประกาศชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ และเข้าสู่กระบวนการอบรม และทดสอบ พร้อมกับประเมินการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเริ่มงานแรก คือการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลใช้บังคับ 15 กันยายนนี้

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวย้ำด้วยว่า แม้ขณะนี้ กกต. ยังไม่ประกาศบุคคลที่เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ไม่สามารถทบทวนรายชื่อที่เผยแพร่และให้บุคคลตรวจสอบคุณสมบัติไปได้ เนื่องจากระเบียบไม่ได้ถูกออกแบบไว้ ดังนั้นต้องเดินหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด และไม่เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งที่จะมาถึง

เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงการชี้แจง การเสนอของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2562 ภายหลังเข้าชี้แจงต่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ด้วยว่า งบประมาณที่ กกต. เสนอขอไปทั้งหมด 8,000 ล้านบาท ล่าสุดมีการปรับลดลง โดยส่วนของงบประมาณที่ใช้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอขอทั้งหมด 5,500 ล้านบาท

ล่าสุด ถูกปรับลดเหลือ 4,000 ล้านบาท, การจัดเลือกตั้ง ส.ว. เสนอขอไปทั้งหมด 2,000 ล้านบาท ล่าสุดถูกปรับลดเหลือ 1,300 ล้านบาท ขณะที่งบเพื่อใช้ในด้านธุรการเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เสนอขอไปที่ 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรายละเอียดที่ปรับลด กกต. เตรียมเสนอให้ กมธ.พิจารณาอีกครั้งและจะยื่นรายการเป็นเอกสารต่อไป