เผยเขื่อนวชิราลงกรณ อีก15%เต็ม100%

เผยเขื่อนวชิราลงกรณ อีก15%เต็ม100%

กฟผ. ชี้แจงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำวันนี้ พบเขื่อนวชิราลงกรณ อีก 15% เต็ม 100%

วันนี้ 7 ส.ค.61 นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ (อขว.) อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร  ที่ระดับ 155 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง         (ม.รทก.)

โดยข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2561 เวลา 8.00 น. มีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,505 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 85% โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ ปรับแผนระบายน้ำตามมติของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ ประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 มีแผนการระบายน้ำ วันที่ 6-12 สิงหาคม 2561 ระบายน้ำเฉลี่ย 43 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก จึงจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพียงพอ ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,355 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางเขื่อน

วชิราลงกรณรับทราบปัญหาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการทางด้านท้ายน้ำ และได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

แต่เนื่องจาก ณ เวลานี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และถ้าปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าอ่างลดลงก็จะทำการลดการระบายน้ำลงเท่าที่จะทำได้

 ทั้งนี้ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ มีการรายงานแผนการระบายน้ำ ให้หน่วยงานราชการในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ทราบเป็นประจำทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ หากมีข้อสงสัย หรือได้รับข่าวต่างๆ ที่ผิดปกติ โปรดสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรง ที่ กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ หมายเลข 02-4368739 หรือ 034-599077 ต่อ 3110 , 3111 และติดตามเหตุการณ์ทางกล้อง CCTV ตลอด 24 ชั่วโมงที่ http://www.vrk.egat.com หรือ Application EGAT Water

  ด้านความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน เขื่อนวชิราลงกรณ มีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากลโดยมีหน่วยงานด้านบำรุงรักษาเขื่อนฯ ทำการตรวจสอบเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี และโดยคณะกรรมการตรวจประเมินความปลอดภัยเขื่อนฯ ทุกๆ 2 ปี

 เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับตัวเขื่อน เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% หรือ มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดที่ติดตั้งไว้ภายในตัวเขื่อนและบริเวณใกล้เคียงทันที เพื่อรายงานและวิเคราะห์ผลทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงขอให้ประชาชน มีความมั่นใจ ในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน