ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก

ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก

เหตุสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านหนุนนักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐประกาศคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ราบรื่นของกระบวนการเบร็กซิท ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.39 เยน จากระดับ 111.23 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9963 ฟรังก์ จากระดับ 0.9940 ฟรังก์ 

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1553 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1579 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2943 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3009 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7389 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7404 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากทำเนียบขาวประกาศว่า สหรัฐจะรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคการเงินและอุตสาหกรรมของอิหร่าน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันนี้และถือเป็นมาตรการรอบแรก ก่อนที่สหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรอบ 2 ในเดือนพ.ย. ซึ่งจะพุ่งเป้าไปยังการทำธุรกรรมของธนาคารกลาง การส่งออกน้ำมัน และการขนส่งสินค้าทางเรือของอิหร่าน

ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังจากนายเลียม ฟ็อกซ์ รมว.การค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ ระบุว่า มีโอกาสสูงขึ้นที่อังกฤษจะไม่มีการทำข้อตกลงเบร็กซิท เนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) มีท่าทีที่ไม่ต้องการประนีประนอมกับอังกฤษ ทั้งนี้ นายฟ็อกซ์กล่าวว่า โอกาสที่อังกฤษจะประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงนั้นอยู่ที่ “60-40”

นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด หลังจากที่จีนขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยคิดอัตราภาษี 25%, 20%, 10% และ 5% ต่อสินค้า 5,207 รายการของสหรัฐ ซึ่งจีนจะดำเนินการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว หากสหรัฐเดินหน้าจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) เดือนก.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) เดือนก.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิ.ย.