รฟท.แจง5ข้อ ปมทีโออาร์รถไฟเชื่อม3สนามบิน

รฟท.แจง5ข้อ ปมทีโออาร์รถไฟเชื่อม3สนามบิน

รักษาการผู้ว่าฯรฟท. ปัดล็อกสเปก แจง5ข้อ ปมทีโออาร์โครงการรถไฟเชื่อม3สนามบิน หลัง “ศรีสุวรรณา” ร้องนายกฯให้ทบทวน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงประเด็น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษณ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการทบทวนและแก้ไขทีโออาร์ โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากมีแนวโน้มส่อการทุจริต

ขอชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1) TOR มีเจตนาทำให้ที่ดินบริเวณมักกะสันที่เป็นของ ร.ฟ.ท. กลายเป็นที่ดินในครอบครองของนายทุนเอกชน 

ข้อชี้แจง ที่ดินที่มักกะสัน ได้ดำเนินการในลักษณะที่ให้เอกชนเช่าพื้นที่ของการรถไฟฯ โดยมีการคิดค่าเช่าตามระเบียบของการรถไฟฯ และตามผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาเมื่อต้นปี 61 ซึ่งการรถไฟฯ มีแผนงานที่จะดำเนินการในลักษณะนี้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

2) TOR ได้ผนวกที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณมักกะสันกว่า 140 ไร่ไปให้เอกชนพัฒนา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระบบราง และให้ที่ดินดังกล่าวตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนตลอดระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี (+49 ปี) อันส่อไปในทางขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 

ข้อชี้แจง ที่ดินที่จะให้เอกชนเช่าตามข้อ 2. มีขนาดพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ และให้เช่ารวมระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 50 ปีเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขต่อหรือขยายระยะเวลาใน TOR และสัญญา โดยการรถไฟฯ จะมีค่าเช่าตลอดอายุสัญญา ประมาณ 51,000 ล้านบาท หลังจากสัญญาเช่าหมด ทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนทั้งหมดจะตกเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ ในลักษณะเช่นเดียวกับ โครงการห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งสัญญาเช่ารอบแรกสิ้นสุดเมื่อปี 2551 ค่าเช่าปีสุดท้ายประมาณ 10 ล้านบาท ภายหลังจากทรัพย์สินจากสัญญาเช่าตกเป็นของการรถไฟฯ แล้ว โครงการมีมูลค่าผลตอบแทนตลอด 20 ปี ประมาณ 21,000 ล้านบาท 

3) TOR มีเจตนาที่จะประเมินราคาที่ดินบริเวณมักกะสันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน

ข้อชี้แจง การประเมินมูลค่าที่ดิน การรถไฟฯ ได้ให้ที่ปรึกษาที่มีวิชาชีพประเมินดำเนินการตามหลักการ และวิธีการที่สากลยอมรับ โดยใช้ฐานข้อมูลที่ดินในตลาด ซึ่งมีทำเลใกล้เคียงกับที่ดินแปลงดังกล่าว ในโครงการ

4) TOR มีเจตนาที่จะยึดแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ไปให้เอกชนในราคาเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ร.ฟ.ท.ยังคงต้องแบกภาระหนี้จากการลงทุนต่อไปอีกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด

ข้อชี้แจง โครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ปัจจุบันมีหนี้ประมาณ 33,229 ล้านบาท และการดำเนินงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ขาดทุนทุกปีประมาณ 300 ล้านบาท ถ้าปล่อยแบบนี้ต่อไป การรถไฟฯ จะเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการดำเนินงาน โดยเอกชนคาดว่าจะไม่ขาดทุน และเอกชนมาบริหารจะให้บริการที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้นกว่าที่โครงการเดิมดำเนินการอยู่ ใน TOR รัฐจึงให้เอกชนต้องจ่ายสิทธิการบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ให้การรถไฟฯ ไม่น้อยกว่า 10,671 ล้านบาท (คิดจากค่าเสียโอกาสรายได้ หากการรถไฟฯ ดำเนินโครงการเอง ประการสำคัญ การขาดทุนของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มบริการให้เท่ากับความต้องการของประชาชนได้เต็มที่ ดังนั้น เอกชนที่เข้ามาบริหารต้องการเพิ่มการลงทุน และสอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่

5) TOR มีเจตนาเขียน “ล็อคสเปก”เพื่อ“ฮั้วประมูล” ให้เอกชนบางราย จึงเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 

ข้อชี้แจง นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ให้นโยบายไว้ว่า การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการ PPP หลัก ใน EEC ต้องเป็นแบบเปิดกว้างแบบนานาชาติ หรือ International Bidding โดยรายละเอียดหลักการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของ กพอ. ในการประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อการประชุมวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูง ได้นำหลักการดังกล่าวประกอบการจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน และมีบริษัทเอกชนมาซื้อเอกสารจำนวน 7 บริษัท ญี่ปุ่น จำนวน 4 บริษัท ฝรั่งเศส จำนวน 2 บริษัท มาเลเซีย จำนวน 2 บริษัท อิตาลี จำนวน 1 บริษัท และเกาหลีใต้ จำนวน 1 บริษัท แสดงว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันแบบนานาชาติ เอกชนต่างประเทศมีความเชื่อถือว่า โครงการเป็นแบบเปิดกว้าง ไม่ล็อคสเปค