บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ 33.24 บาทต่อดอลลาร์

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ 33.24 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินยังคงผันผวน ยังมีปัจจัยเสี่ยงมาก จับตาประชุมกนง. น่าสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น หนุนบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.24บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดสิ้นวันทำการในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 33.34บาทต่อดอลลาร์

ภาพรวมทั่วไปในตลาดการเงินยังผันผวน เนื่องจากไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจเด่นๆมาช่วยให้ตลาดฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น หรือตลาดเกิดใหม่ฟื้นตัวได้จริง และตลาดยังคงสับสนกับมาตรการกีดกันทางการค้า การลงทุนจึงกระจุกตัวที่สหรัฐ แม้สัปดาห์นี้จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีญี่ปุ่น แต่เราเชื่อว่านักลงทุนจะไม่รีบร้อนกลับเข้ามาลงทุนในเอเชียเพราะความเสี่ยงในตลาดทุนจีนยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับเงินบาท มองว่าน่าจะเป็นสัปดาห์ที่ผันผวนเช่นกัน เนื่องจากมีทั้งด้านบวกจาก ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐที่ชะลอตัวลงในช่วงท้ายวันศุกร์ และการประชุม กนง.ที่น่าจะสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าได้บ้าง แต่เงินหยวนและตัวเลขการค้าของจีนอาจเป็นปัจจัยฉุดให้ตลาดกลับมามีมุมมองเชิงลบกับสกุลเงินเอเชียอีกครั้ง

ล่าสุดแม้จีนจะเริ่มออกมาตรการป้องปรามการเก่งกำไรค่าเงินหยวนเพิ่มเติมแต่เชื่อว่าตลาดก็ยังคงจะจับตาว่าในสัปดาห์นี้เงินหยวนจะอ่อนค่าถึงระดับ 7หยวน/ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการแตะระดับที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เลยหรือไม่ เพราะด้วยความเร่งปัจจุบันมีโอกาสสูงมากที่เงินหยวนจะอ่อนค่าไปถึง ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นเรื่องที่กดดันให้เงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ อ่อนค่าตาม

มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.10-33.60 บาท ต่อดอลลาร์


สำหรับในสัปดาห์นี้มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% ด้วยมติ 6:1 เชื่อว่าจะมีความเห็นสนับสนุการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีกว่าคาดและเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

ตัวเลขการค้าของจีนคาดว่าการส่งออกจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 10% เทียบกับปีก่อน แต่การนำเข้าจะปรับตัวขึ้นต่อ 17% ในเดือนก.ค. ชี้ว่าเศรษฐกิจไทย

ธนาคารกลางฟิลิปินส์จะ “ขึ้น” ดอกเบี้ยอีก 0.50% ไปที่ระดับ 4.00% เพื่อหยุดเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 3% ช่วงต้นปีไปเป็น 5% ในปัจจุบัน

วันศุกร์ คาดจีดีพีญี่ปุ่นจะปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 1.4% ในไตรมาสที่สอง จากการนำเข้าที่เริ่มลดลง หลังจากปรับตัวลงไปในแดนลบไตรมาสก่อน แต่เงินเฟ้อ (GDP Deflator) จะหดตัวลง 0.2% ในไตรมาสนี้จากราคาน้ำมันที่ถูกลง

คาดเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI) จะขยายตัว 3.0% จากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ที่ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 2.3% ในเดือนก่อน