โรคอุบัติใหม่เหตุถ้ำหลวงเคลียร์!

โรคอุบัติใหม่เหตุถ้ำหลวงเคลียร์!

สธ.ยันไร้คนติดเชื้ออุบัติใหม่จากเหตุถ้ำหลวง ทั้งกลุ่มเสี่ยงสูง-ต่ำ จุฬ่าฯ ร่วมกลาโหมปรับปรุงแผนที่โรคตามตะเข็บชายแดน ป้องกันโรคกลุ่มทหารเกณฑ์-นักท่องเที่ยวนิยมไพร แนะกระทรวงทรัพฯ ออกคำแนะนำอุปกรณ์ป้องกันตัวเที่ยวถ้ำให้ชัดเจน

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 ในการเสวนาวิชาการ เรื่อง "ถ้ำหลวง :ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่" จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามโรคอุบัติใหม่ในเหตุการณ์ถ้ำหลวงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคสูง เช่น ผู้ประสบภัย ทีมกู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือและทีมสำรวจปล่องถ้ำ เป็นต้น และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น คนที่เข้าไปสนับสนุนยังพื้นที่แต่ไม่ได้เข้าไปใกล้ชิด โดยเฝ้าระวังการติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นเวลา 14 วันตามระยะการฟักตัวของเชื้อโคโรน่าไวรัสที่อาจจะมีอยู่ในค้างคาวภายในถ้ำหลวง และเป็นเชื้อที่มีโอกาสก่อมห้เกิดโรคติดต่อมายังผู้เข้าไปในพื้นที่มากที่สุด รวมถึงเชื้ออื่นด้วย ซึ่งขณะนี้ผลการเฝ้าระวังกล่าวได้ว่ายังไม่มีผู้ที่ติดเชื้ออุบัติใหม่จากเหตุการณ์ถ้ำหลวงกลังผ่านพ้นระยะเฝ้าระวังโรค ส่วนกรณีบางเชื้ออาจจะก่อโรคในภายหลังอาจจะผ่านไป 1 ปีมีโอกาสเกิดขึ้นราว 1 % แต่ขณะนี้คือคน 99% ไม่มีคนติดเชื้อ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากเหตุการณ์ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน 13 หมูป่าอะคาเดมี่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน แม้ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี แต่เรื่องนี้ให้บทเรียนในการเฝ้าระวังโรคจากธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ทั้ง สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ เห็บ หมัด ริ้น ไร ค้างคาว ซึ่งสอนและให้บทเรียนการปฏิบัติตัวเมื่อเที่ยวถ้ำควรทำอย่างไร โดยโรคที่เฝ้าระวังในเบื้องต้น เป็นการสันนิษฐานในกลุ่มแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ ว่า ควรมีโรคอะไรบ้าง ทั้งโรคจากสภาพแวดล้อม โรคจากสัตว์ และโรคตามตะเข็บชายแดน

"จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เตรียมปรับปรุงแผนที่โรค ที่จะเป็นการเฝ้าระวังโรคจากเห็บ หมัด ริ้น ไร ตามผืนป่าธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ที่บริสุทธิ์ หรือ ตามตะเข็บชายแดน ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ร่วมกับ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ (AFIMS)เพื่อให้รู้จักเฝ้าระวัง โดยเชื่อว่า จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ทั้งกับนักท่องเที่ยว หรือ แม้แต่ทหารเกณฑ์ที่ปฏิบัติหน้าตามตะเข็บชายแดน"ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ด้านนสพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หลังเหตุการณ์ถ้ำหลวงเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในถ้ำต่างๆทั่วประเทศมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องออกคำแนะนำข้อปฏิบัติในการท่องเที่ยว โดยต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันร่างกาย เพื่อป้องกันการติดโรคต่างๆ เช่น ตามหลักสากลจะต้องสวมหมวก แว่น และสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น จะต้องสร้างความเข้าใจต่อสังคมในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น รวมถึง จะต้องมีการสำรวจ ศึกษา วิจัยสัตว์ในถ้ำ สิ่งมีชีวิตในถ้ำและความเสี่ยงต่างๆในถ้ำมากขึ้นด้วย