เฟ้นหา ‘คุณค่าทางดิจิทัล’ ติดสปีดการปฏิวัติองค์กร

เฟ้นหา ‘คุณค่าทางดิจิทัล’  ติดสปีดการปฏิวัติองค์กร

ต้องเร่งหาวิธีนำข้อมูลดิจิทัลมาปรับใช้ให้เร็วที่สุด

การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้โลกทั้งใบสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้แบบเรียลไทม์ แน่นอนว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลโดยตรงต่อทั้งรูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิตของมนุษย์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ภาคธุรกิจต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง(ประเทศไทย) จำกัด ในเครือเอบีม คอนซัลติ้ง ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องพร้อมปรับกลยุทธ์ทุกด้านเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี รวมไปถึงมองหาโซลูชั่นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งใหม่ๆ ให้กับองค์กร และเตรียมรับมือกับโลกในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

มาซาโตะ มิยามารุ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ เอบีม คอนซัลติ้ง ให้ทัศนะเกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไว้อย่างน่าสนใจว่า องค์กรต่างๆ มีความจำเป็นต้องเร่งหาวิธีนำข้อมูลดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อสร้าง “คุณค่าทางดิจิทัล(Digital Value)” ด้วยเทคโนโลยีให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรให้มากยิ่งขึ้น 

ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดบริษัทผู้นำทางด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่น กูเกิล, อะเมซอน, เฟซบุ๊กและอีกหลายบริษัทที่กำลังทยอยเติบโตขึ้นมา ต่างก็มีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือสามารถสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรได้อย่างลงตัว

ค้นจุดเด่น สร้างจุดแข็ง

หากจะกล่าวให้ชัด คุณค่าทางดิจิทัลเป็นการค้นหาจุดเด่นหรือคุณค่า(Value) ขององค์กรที่เกิดจากการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งสิ่งสำคัญประกอบด้วย 1.มีการเชื่อมต่อกันระหว่างวัตถุที่จับต้องได้กับโลกไซเบอร์ 2.มีการเชื่อมต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์เพื่อทำให้สามารถทำนายสถานการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ 3.มีการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กรอย่างทั่วถึงและไร้ขีดจำกัด

“การมีคุณค่าทางดิจิทัลจะทำให้องค์กรต่างๆ ไม่เพียงแต่สร้างรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ได้สำเร็จเท่านั้น แต่ยังสามารถกุมอำนาจในการแข่งขันด้านธุรกิจเอาไว้ได้ทั้งหมด เป็นคำตอบของโจทย์ที่ว่า ผู้เล่นหน้าเดิมต่างพบว่าธุรกิจของตนเองเริ่มสั่นคลอน และตระหนักว่าอำนาจในการแข่งขันนั้นได้เปลี่ยนมือไปสู่สิ่งที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป"

มิยามารุบอกว่า ที่ผ่านมามีผู้บริหารจำนวนมากต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ ดังนั้นสิ่งแรกที่แนะนำคือ การกำหนดเป้าหมายในโลกดิจิทัลให้ชัดเจน และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน

ตัวอย่างเช่น หากต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อรักษาจุดแข็งและคงความสามารถในการแข่งขันไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายในองค์กร และสิ่งที่จะต้องระวังก็คือ ถึงแม้ว่าบริษัทจะปรับตัวแล้วก็ตาม แต่ก็มิอาจสามารถวางใจได้ทีเดียว 

"ในยุคดิจิทัลจุดแข็งที่เคยใช้ได้อย่างดีในอดีตอาจใช้ไม่ได้กับคู่แข่งที่เข้ามาใหม่อีกต่อไป ที่สำคัญไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคู่แข่งใหม่ที่จะเข้ามาทำลายธุรกิจจะเกิดขึ้นเมื่อใด"

ท้าทายสมรภูมิแข่งขันใหม่

เขากล่าวว่า เป้าหมายของการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่แท้จริงคือ “การสร้างความสามารถในการแข่งขันรูปแบบใหม่” โดยใช้คุณค่าทางดิจิทัลเป็นส่วนเสริมสำคัญ ธุรกิจที่จะทำเช่นนี้ได้หัวใจสำคัญจะต้องกำหนดนิยามของคำว่าคุณค่าที่ต้องการมอบให้กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน

ส่วนของบริษัทในฐานะที่ปรึกษาให้บริการ "เอบีม อีโคซิสเต็มส์(ABeam Ecosystem) ซึ่งพัฒนามาภายใต้แนวคิด “Connected Enterprise” ที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างคุณค่าทางดิจิทัลผ่านการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน โดยไม่ถูกปัจจัยต่างๆ อย่างเช่นทรัพยากรหรือประสบการณ์ของลูกค้า มาเป็นข้อจำกัดความสามารถในการพัฒนา

นอกจากนี้ สนับสนุนให้ลูกค้าสร้างระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้เกิดขึ้นภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1. การค้นหาคุณค่าทางดิจิทัลขององค์กร 2.กำหนดโครงสร้างและรูปแบบของคุณค่าทางดิจิทัล 3.สร้างโมเดลธุรกิจจากคุณค่าทางดิจิทัล 4.การสร้างพื้นฐานของคุณค่าทางดิจิทัลขององค์กร

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนงานดังกล่าวต้องมีการนำแนวทางการปฏิบัติในรูปแบบใหม่ๆ เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ(Design Thinking) และแนวคิด “Lean Start-ups” ส่วนว่าจะใช้แนวทางแบบใดบ้างนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะเด่นของแต่ละองค์กรเป็นสำคัญ

"ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น คือกิจกรรมที่นำคุณค่าทางดิจิทัลมาใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ด้วยเหตุผลนี้เองในการเริ่มต้นจะต้องค้นหาถึงสิ่งที่ต้องการจะทำให้สำเร็จออกมาเป็นเป้าหมายให้ได้ชัดเจนเสียก่อน"