แท่นชาร์จรถอีวี เรียกน้ำย่อยรีเสิร์ชเอ็กซ์โป

แท่นชาร์จรถอีวี  เรียกน้ำย่อยรีเสิร์ชเอ็กซ์โป

เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับระบบสมาร์ทกริด หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดติดตั้งจีพีเอสแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟน และระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนและน้ำชะขยะด้วยถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบมีเมมเบรน ตัวอย่าง ผลงานวิจัยเด่นที่เตรียมอวดโฉมในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับระบบสมาร์ทกริด หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดติดตั้งจีพีเอสแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟน และระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนและน้ำชะขยะด้วยถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบมีเมมเบรน ตัวอย่าง ผลงานวิจัยเด่นที่เตรียมอวดโฉมในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 9-13 ส.ค.นี้ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

การจัดงานในปีนี้ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” มีน้อง INNO MAN เป็นมาสคอต ซึ่งสื่อความหมายถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในวันที่ 10 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน

ผลงานเด่นเพื่ออนาคต

จากแนวโน้มการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบชาร์จไฟจึงเป็นสิ่งจำเป็น และกลายเป็นโจทย์วิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รับทุนสนับสนุนจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทำการพัฒนาเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับระบบสมาร์ทกริด

“เป็นเครื่องที่ติดตั้งและใช้งานง่าย สามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทย เช่น ชาร์จไฟระหว่างชอปปิง หรือที่ทำงานได้ตามต้องการ แตกต่างจากเครื่องชาร์จนำเข้าแถมยัง ไม่สามารถปรับแก้ได้ตามที่ต้องการ” ผศ. ธีรธรรม บุณยะกุล นักวิจัย มจพ. กล่าว

ขณะนี้นวัตกรรมดังกล่าวพร้อมที่นำไปใช้งาน เหลือแค่เพียงการพัฒนาโมเดลธุรกิจ ซึ่งทาง กฟน.ในฐานะเข้าของลิขสิทธิ์จะดำเนินการต่อ โดยนำไปวางไว้ตามห้างสรรพสินค้า สำนักงาน รวมถึงครัวเรือนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผู้ใช้จะได้ส่วนลดค่าไฟที่ถูกกว่าการชาร์จตามปกติ

จุดประสงค์การพัฒนาเครื่องชาร์จนี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น แทนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ สำหรับเครื่องชาร์จตามห้างสรรพสินค้า สำนักงาน มีราคา 1 แสนบาท ขณะที่เครื่องชาร์จในบ้าน ราคาประมาณ 3 หมื่นบาท เพราะมีออฟชั่นน้อยกว่า และที่สำคัญคือ ส่วนประกอบนำเข้าจากเยอรมนี ซึ่งได้มาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อรถยนต์ที่นำมาชาร์จและไม่เป็นอันตรายต่อผผู้ใช้งาน ในอนาคต หากปริมาณการผลิตมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะผลิตส่วนประกอบขึ้นเองในประเทศ

ส่วนการบำบัดน้ำเสียชุมชนฯ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันติดตั้งใช้ที่เทศบาลเมืองสระบุรีและกำลังขยายต่อไปยังชุมชน เมืองท่องเที่ยวและเกาะที่มีพื้นจำกัด เนื่องจากระบบดังกล่าวใช้พื้นที่น้อย แต่ให้ประสิทธิภาพสูง โดยช่วยลดต้นทุนค่าพื้นที่ 5 เท่า ใช้เวลาบำบัด 4-6 ชั่วโมง จากเดิม 12 ชั่วโมง คุณภาพน้ำหลังการบำบัดบำบัดไม่มีตะกอน สามารถนำไปรดน้ำต้น ไม้และเลี้ยงปลาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้คลอรีน

ขณะที่หุ่นยนต์ปฏิบัติการกู้ภัยและเก็บกู้วัตถุระเบิดร่วมกับระบบติดตามการเคลื่อนที่หุ่นยนต์ด้วยจีพีเอส แสดงผลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นต้นแบบที่อยู่ระหว่างเสาะหาผู้สนใจนำไปต่อยอดทั้งด้านความมั่นคง ภัยพิบัติ รวมถึงการนำไปใช้ขนของในโรงงานอุตสาหกรรม

วิจัยไทยไม่แพ้ชาติใดๆ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ดำเนินยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ครอบคลุมยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ประเด็นท้าทายทางสังคม สร้างองค์ความรู้พื้นฐาน สร้างบุคลากร พัฒนาระบบนิเวศ และเครือข่ายการวิจัยนวัตกรรมที่เข้มแข็ง

ขณะเดียวกันก็เป็นปีแรกที่เงินหมุนเวียนในการวิจัย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ นอกจากนี้ ผลงานวิจัยของไทยได้รับการยอมรับจากเวทีประกวดในระดับโลก ยกตัวอย่างล่าสุด DeepEye แอพพลิเคชั่นตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นตา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พัฒนาโดยใช้วิธีการเรียนรู้เชิงลึกของปัญญาประดิษฐ์ เก็บข้อมูลภาพถ่ายจอตา สร้างฐานข้อมูลการจำแนกโรค มาผสานกับการใช้กล้องถ่ายรูปจอประสาทตาแบบพกพาแทนเครื่องตรวจจอตาของโรงพยาบาล ได้รับรางวัล Grand Prix ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดจากเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 45 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่ผลงานจากไทยได้รับรางวัลระดับสูงสุดของเวทีนานาชาติ แสดงให้เห็นว่า ผลงานของนักวิจัยไทยมีคุณภาพทัดเทียบนักวิจัยต่างประเทศ