6 หลักการไม่ควรมองข้าม พัฒนา‘เอไอ’ให้เกิดประโยชน์

6 หลักการไม่ควรมองข้าม  พัฒนา‘เอไอ’ให้เกิดประโยชน์

อนาคตเอไอจะสร้างประโยชน์มหาศาลทั้งเชิงสังคมและธุรกิจ

เชื่อได้ว่าวันนี้สามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า องค์กรที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ในอนาคตจะต้องมีแนวคิดแบบ “ดิจิทัลต้องมาก่อน” ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็ก หรืออยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม

ในระยะหลังได้เห็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาปรับใช้กันอย่างกว้างขวางในหลากหลายวงการนับตั้งแต่งานบริการลูกค้ารายบุคคลในรูปของแชทบอท หรือแม้แต่งานละเอียดอ่อนอย่างการทำศัลยกรรมเพื่อความงาม ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้นำเอไอและไอโอทีไปใช้ลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดในการดูดไขมัน 

นอกจากนี้ มีบทบาทในภาคการเกษตร เช่นการนำไปใช้เพื่อแนะนำจังหวะเวลาในการหว่านเมล็ดพืชให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด หรือในงานด้านวิศวกรรม เช่น โดรนที่สามารถตรวจหาข้อบกพร่องหรือความเสียหายในอุปกรณ์และโครงสร้างได้ ฯลฯ

วางมาตรฐานเชิงศีลธรรม

ทว่าหนึ่งในประเด็นที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือบทบาทของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่มีต่อสังคมหรือชีวิตของใครสักคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเอไอยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะสามารถแสดงพฤติกรรมหรือความนึกคิดได้ใกล้เคียงกับมนุษย์

เกิดคำถามคือ เทคโนโลยีในอนาคตควร(หรือไม่ควร) ทำอะไรได้บ้าง และควรจะต้องมีมาตรฐานใหม่ในเชิงศีลธรรมและสังคมเข้ามารองรับบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเอไอหรือไม่ อีกทางหนึ่งปัจจัยในด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความโปร่งใสในการเข้าถึงและใช้งานข้อมูลต่างๆ ก็จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ผมเชื่อว่าก่อนที่จะนำเอไอมายกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมมือกันวางรากฐานให้เกิดความไว้ใจและมั่นใจในการทำงานเสียก่อน ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นในระดับนี้ จะต้องอาศัยการสร้างมาตรฐาน 6 ด้านสำคัญดังนี้

ความยุติธรรม : หากเอไอสามารถทำการตัดสินใจได้เหมือนมนุษย์ จำต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้ไม่มีความคิดที่ลำเอียงหรือมีอคติกับฝ่ายใดหรือบุคคลใด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ถ้าข้อมูลที่ระบบเก็บไปวิเคราะห์มีความอคติจากมนุษย์อยู่

ความมั่นคงในการทำงาน : ระบบเอไอควรมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและผ่านการทดสอบโดยละเอียดในทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น หากต้องตอบสนองกับเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ใหม่ๆ โดยจะต้องมีผู้ดูแลที่เป็นมนุษย์ควบคุมและกำหนดว่าสามารถนำเอไอไปใช้สนับสนุนการทำงานในด้านใดจึงจะเหมาะสม

ต่อยอดเป็นกฏหมาย

ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล  : หากเอไอขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ก็ต้องมีกฎหมายและกรอบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ลดช่องโหว่ลง เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการกับข้อมูลของตัวเองได้อย่างมั่นใจและชัดเจน และป้องกันไม่ให้ผู้ประสงค์ร้ายนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในทางที่ผิด

ความเท่าเทียมกันในสังคม : เอไอจะต้องมีความเข้าใจในระดับศักยภาพที่แตกต่างกันไปของมนุษย์แต่ละคน และสามารถรองรับความแตกต่างนี้ได้ด้วยวิธีการที่ไม่ถือเป็นการกีดกันผู้ด้อยโอกาส

ความโปร่งใส : ผู้พัฒนาเอไอจะต้องชี้แจงให้ผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ทราบว่าระบบมีหลักการทำงานอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ช่วยให้เอไอสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเป็นกลางและแม่นยำมากขึ้น พร้อมลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดที่ไม่คาดฝันขึ้นด้วย

ความรับผิดชอบ : ผู้ที่ออกแบบและพัฒนาระบบจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเอไอ โดยมาตรฐานด้านความรับผิดชอบนี้ อาจพัฒนาขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับหลักการด้านความรับผิดชอบของบุคลากรด้านการแพทย์ เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ แนวคิดในด้านต่างๆ นี้ ไม่ควรหยุดอยู่แค่การสร้างมาตรฐานให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเท่านั้น แต่ควรต่อยอดให้กลายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กันอย่างเป็นทางการ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหลักการเหล่านี้อาจถูกมองข้ามไปโดยนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการที่ขาดหลักจริยธรรมในการทำงาน

ผมมั่นใจอย่างมากว่าในอนาคตเอไอจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลทั้งในเชิงสังคมและธุรกิจ ผ่านทางการเสริมศักยภาพให้มนุษย์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเอไอให้ทั้งฉลาดและเชื่อใจได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งหมายความว่าความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์อาจไม่เพียงพออีกต่อไป นักพัฒนาเอไออาจต้องหันมาให้ความสนใจกับศาสตร์และศิลป์ในเชิงสังคมและจิตวิทยาควบคู่กันไปด้วย

บทความโดย : ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด