ติดกำไล EM หนี 49 จับได้ 18 ราย

ติดกำไล EM หนี 49 จับได้ 18 ราย

ผู้พิพากษากำกับดูแลศูนย์ EM เปิดยอดหลังเริ่มติดกำไลข้อเท้าผู้ประกันตัว มีสัญญาณหายต้องหมายจับตาม ก.ม. 49 ราย

หลังจากศาลยุติธรรม เริ่มนำร่องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบกำไลข้อเท้า EM สำหรับการตรวจสอบและจำกัดการเดินทาง ในการการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามนโยบายของศาลยุติธรรม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.61 ที่ผ่านมานั้น

         ติดกำไล EM กว่า 1,800 ราย หนี 49 จับได้ 18 ราย


นายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล" ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้กำกับดูแล "ศูนย์ควบคุมการปล่อยตัวชั่วคราวและการบังคับตามคำสั่งศาลโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยถึงผลการใช้กำไล EM ว่า จนถึงวันนี้ศาลยุติธรรมได้นำอุปกรณ์จำนวน 5,000 เครื่องกระจายไปยังระดับศาลจังหวัดและศาลแขวงทั่วประเทศแล้วรวม 163 ศาล ก็ได้ใช้แล้ว 1,638 เครื่อง กับส่วนที่ทำ MOU กับกรมคุมประพฤติในส่วนของศาลแขวงอีก 2 แห่ง คือศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงดอนเมือง ใช้แล้ว 246 เครื่อง รวมอุปกรณ์ EM ที่ใช้ 1,884 เครื่อง 

              ติดกำไล EM กว่า 1,800 ราย หนี 49 จับได้ 18 ราย


"นายปุณณพัฒน์" ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์ควบคุมการปล่อยตัวชั่วคราวและการบังคับตามคำสั่งศาลโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวอีกว่า จากการติดตามการใช้อุปกรณ์กำไลข้อเท้า EM กับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้วนั้น เราได้รวบรวมข้อมูลตลอดขากศูนย์ฯ ที่จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฝ้าติดตามดูสัญญาณแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากมีอุปกรณ์รายใดของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นสัญญาณขาดหายไปก็จะแจ้งเตือนทันที ซึ่งนับจากใช้อุปกรณ์ EM ตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึง 31 ก.ค.นี้ มีรายงานสรุปยอดอุปกรณ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยสัญญาณขาดหายรวม 49 ราย ซึ่งลักษณะนั้นพบว่าสัญญาณหายไปจากหน้าจอมอนิเตอร์ที่ศูนย์เฝ้าติดตาม โดยภายใน 2 นาทีเจ้าหน้าที่พยายามติดต่อจากหมายเลขโทรศัพท์แล้วติดต่อไม่ได้ และภายใน 1 ชั่วโมงก็ยังไม่สามารถติดตามเจอได้ ตามกฎหมายในการใช้อุปกรณ์ EM ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 117 วรรคท้าย ให้สันนิษฐานก่อนว่าผู้ติดอุปกรณ์ EM ไว้สัญญาณขาดหายแล้วอาจจะหลบหนี ซึ่งตามขั้นตอนเราต้องขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวมาไต่สวนสอบถาม หากเป็นกรณีจงใจทำลายอุปกรณ์เพื่อจะหลบหนีคดี ก็ถือว่าขาดความน่าเชื่อถือแล้วก็จะต้องให้ปรับนายประกันตามที่กำหนดในสัญญาปล่อยตัว และถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวอีก ส่วนถ้าไต่สวนแล้วฟังได้ว่าเหตุสุดวิสัย ไม่มีเจตนา เช่น อยู่จุดอับสัญญาณ  หรือไปอยู่จุดดำน้ำ ซึ่งปกติหากสัญญาณดับแบบสุดวิสัยก็จะไม่นานเกินช่วง 2 นาที ที่ระบบจะแจ้งเตือนไว้ หรือลืมชาร์จแบตซึ่งปกติใช้เวลาชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ อย่างนี้ก็ยังจะได้จิดอุปกรณ์ต่อไปแต่ก็จะต้องเข้มงวด

        ติดกำไล EM กว่า 1,800 ราย หนี 49 จับได้ 18 ราย


โดยยอดอุปกรณ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยสัญญาณขาดหายรวม 49 ราย และได้ออกหมายจับตามกฎหมายกรณีสัญญานดับที่ให้สันนิษฐานว่าหลบหนีนั้น ติดตามจับตัวได้ 18 ราย ประกอบด้วย


          ศาลจังหวัดมีนบุรี (ศาลแรกเริ่มติดรายแรก 3 มี.ค.61) ออกหมายจับ 10 ราย ติดตามตัวได้ 1 ราย 
          ศาลจังหวัดนครปฐม 6 ราย จับได้ 2 ราย
          ศาลจังหวัดสงขลา 6 ราย จับได้ 2 ราย 
          ศาลอาญา 5 ราย จับได้ 3 ราย
          ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช 3 ราย จับได้ 3 ราย 
          ศาลจังหวัดชุมแพ 2 ราย จับได้ 2 ราย
          ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ 2 ราย จับได้ 1 ราย
          ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ราย จับได้ 1 ราย
          ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 จำนวน 1 ราย จับได้ 1 ราย
          ศาลจังหวัดศรีสะเกษ 2 ราย จับได้ 1 ราย
          ศาลจังหวัดชัยภูมิ 1 ราย จับได้ 1 ราย

และศาลจังหวัดอุทัยธานี , ศาลจังหวัดเชียงใหม่ , ศาลจังหวัดลพบุรี , ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ , ศาลอาญากรุงเทพใต้ , ศาลจังหวัดภูเขียว , ศาลแขวงพิษณุโลก , ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน , ศาลจังหวัดบัวใหญ่ ออกหมาจับศาลแห่งละ 1 ราย ยังติดตามตัวมาไม่ได้ ล่าสุดคือ ศาลจังหวัดตรัง ที่ออกหมายจับ 1 ราย ก็อยู่ระหว่างติดตามตัว

นายปุณณพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการหลบหนีและออกหมายจับ ผู้หลบหนีต้องถูกส่งมาศาล ศาลจะฟังเหตุผลโดยไต่สวนก่อนจะใช้ดุลยพินิจว่าส่งเข้าเรือนจำเพราะเจตนาทำ หรือเหตุรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งบางคนอ้างว่ามันหลุดเอง บางคนรำคาญเพราะมันมีขนาดใหญ่เท่าซองบุหรี่ และเป็นของที่อยู่ติดกับตัวเวลาวิ่งอาจโดนข้อเท้า เมื่ออยู่ใกล้ตัวก็รำคาญทำลายเอง เพราะอยากจะตัดสายมันก็มีแต่ยังไม่มีรายงานว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพจิต หรือมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดีสำหรับอุปกรณ์ EM นี้ ก็จะต้องมีการประเมินผลการใช้งานเมื่อครบ 3 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ซึ่งจะครบกำหนดประเมินในเดือน ธ.ค.61 นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.วิ อาญา มาตรา 117 นั้น ระบุ เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น 

ในกรณีที่มีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใด ตามมาตรา 108 วรรคสาม กับผู้ต้องหาหรือจำเลยใด ถ้าปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทำลายหรือทำให้ใช้การไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นหนีหรือจะหลบหนี