ผู้ว่าฯเชียงรายสั่งจัดเวรยาม24ชม. ห้ามเข้าใกล้จุดดินถล่ม

ผู้ว่าฯเชียงรายสั่งจัดเวรยาม24ชม. ห้ามเข้าใกล้จุดดินถล่ม

ลงพื้นที่ตรวจสอบดินถล่มหมู่บ้านร่มฟ้าไทย อ.เทิง จ.เชียงราย สั่งกันพื้นที่เพื่อไม่ให้คนเข้าใกล้ พร้อมจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า

วันที่ 31 ก.ค. นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางไปตรวจการแก้ไขปัญหากรณีดินถล่มบนถนนหมายเลข 1093 หมู่บ้านร่มฟ้าไทย หมู่ 24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ทำให้อาคารบ้านเรือนทรุดตัวถล่มลงไปในหุบเขาลึกหลายหลัง โดยได้ลงพื้นที่ตรวจดูสถานที่และประชุมเจ้าหน้าที่ ที่อาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้านร่มฟ้าไทย หลังจากที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติจากเหตุดินถล่ม

โดยได้มีการสั่งการให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตับเต่า เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีนายอำเภอเทิงเป็นผู้อำนวยการ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการใช้อำนาจพิจารณาให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้ย้ายออกไปจากพื้นที่ได้หากเห็นว่าพื้นที่นั้นๆ ไม่มีความมั่นคงเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งให้เข้มงวดการกั้นพื้นที่เพื่อไม่ให้คนเข้าใกล้ รวมทั้งจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง

นายประจญ กล่าวว่า จุดดังกล่าวถือว่าลึกประมาณ 40-50 เมตร ทำให้อาคารเสียหายทั้งหมด มีผู้อาศัยใช้ประโยชน์จำนวน 4 ราย และ อาคารติดขอบดินทรุดเสียหายบางส่วนจำนวน 2 หลัง รวมผู้เสียหายทั้งหมด 6 ราย เบื้องต้นได้ให้การช่วยเหลือมอบสิ่งของจากเหล่ากาชาดแล้ว

สำหรับถนนสายดังกล่าวนั้นถือเป็นถนนสายท่องเที่ยวที่เป็นชุมทางของนักท่องเที่ยวที่มาจากทั้งด้าน อ.ภูซาง จ.พะเยา และทาง อ.เทิง จ.เชียงราย เพื่อไปยังภูชี้ฟ้า ซึ่งได้สั่งการให้ทางแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 ร่วมกับศูนย์อำนวยการฯ เข้าปรับสภาพพื้นที่โดยเบื้องต้นจะมีการนำสะพานแบริ่งไปติดตั้งก่อน ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าเหตุดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ยังสัญจรไปมาได้และเมื่อมีสะพานแบริ่งก็สามารถไปมาได้โดยสะดวก ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็จะได้ทำการปรับสภาพพื้นที่และซ่อมแซมก่อสร้างผิวจราจรใหม่ซึ่งคงจะเป็นช่วงพ้นฤดูฝนไปแล้ว

ด้านแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 ได้มีการขนย้ายสะพานแบริ่งไปยังภูชี้ฟ้าแล้วโดยมีกำหนดไปถึงในวันที่ 1 ส.ค. อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่่ระบุว่าเบื้องต้นจะมีการปรับสภาพพื้นที่ด้านล่างที่มีอาคารทรุดลงไป แล้วนำหินและดินทรายเติมเข้าถล่มตรงช่องโหว่ที่ดินถล่ม จากนั้นปรับพื้นที่ด้านบนให้แข็งแรงโดยอาจจะไม่ต้องใช้สะพานแบริ่งแต่อย่างจะมีการประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ต่อไปอีก 3 วันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป