วัสดุนวัตกรรม เพิ่มค่าน้ำมะพร้าวเทียม

วัสดุนวัตกรรม เพิ่มค่าน้ำมะพร้าวเทียม

“นิรุตโคโค่” ผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมพลิกวิกฤติเป็นโอกาส พัฒนาน้ำมะพร้าวเทียมและอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์สำหรับผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว จากนั้นต่อยอดวิจัยสารให้ความคงตัวจากเซลลูโลสตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหาร

เดิมทีนิรุตโคโค่ทำธุรกิจขายอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ให้กับผู้ผลิตวุ้นน้ำมะพร้าวในแถบจังหวัดภาคกลาง พบว่าขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่กลับประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบน้ำมะพร้าว และต้องแย่งชิงกับผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำมะพร้าว 100% จึงต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหานี้

แก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน

“เชื้อและสารสารอาหารแห้งสำหรับการผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว” เป็นโครงการที่นิรุตโคโค่จับมือกับ “ชัยวุฒิ บัวเนี่ยว” นักวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำมะพร้าว หรือ “น้ำมะพร้าวเทียม”

โครงการนี้เป็นการพัฒนานวัตกรรมระดับกลุ่มอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสารอาหารทดแทนน้ำมะพร้าวในการผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว โดยการผลิตหัวเชื้อหรือกล้าเชื้อสำหรับใช้ผลิตไบโอเซลลูโลส ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีการห่อหุ้มเซลล์ด้วยการใช้อาหารที่เหมาะสมร่วมกับสารเพิ่มความคงตัว และเทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง จากนั้นผลิตสูตรอาหารที่เหมาะสม โดยการใช้เอนไซม์และการดัดแปรโครงสร้างของพอลิแซคคาไรด์

“น้ำมะพร้าวเทียมนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมะพร้าว ในอุตสาหกรรมการผลิตวุ้นน้ำมะพร้าว และควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างคงที่ โดยใช้น้ำมะพร้าวจริงเพียง 10% ผสมกับหัวเชื้อและอาหารเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสม ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงวุ้นน้ำมะพร้าวจากน้ำมะพร้าวจริงๆ” นิรุต สุวรรณรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นิรุตโคโค่ กล่าว

กลุ่มเป้าหมายของน้ำมะพร้าวเทียมนี้ก็คือ ผู้ผลิตวุ้นน้ำมะพร้าวที่มีปริมาณความต้องการใช้น้ำมะพร้าวมากกว่า 90 ล้านตันต่อปี ซึ่งอ้างอิงจากฐานลูกค้าเดิมและได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มที่ทำให้ต้นทุนน้ำมะพร้าวเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าจาก 1-2 บาทต่อลิตรเป็น 8-10 บาทต่อลิตร น้ำมะพร้าวเทียมที่พัฒนาขึ้นจึงวางราคาไว้ที่ลิตรละ 2.20 บาท

เขายังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาต่อยอดเป็น หัวเชื้อสำหรับผลิตวุ้นน้ำมะพร้าวที่จะไม่ใช้น้ำมะพร้าวเลย ขณะเดียวกัน วุ้นมะพร้าวก็มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ จึงศึกษาเพิ่มเติมและพบว่า เส้นใยเซลลูโลสจากวุ้นมะพร้าวเป็นเส้นใยที่เล็ก พื้นที่สัมผัสมาก มีความบริสุทธิ์สูงต่างจากเซลลูโลสฟางข้าว หรือของเหลือจากกระบวนการผลิตอื่นๆ จึงสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกมาก

“เรามองเห็นโอกาสที่จะใช้เซลลูโลสจากวุ้นน้ำมะพร้าวเป็นสารให้ความคงตัว ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น เจลาติน กัมอะราบิก แซนแทนกัม หรือคาร์ราจีแนน จึงได้ศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการพัฒนาสารให้ความคงตัวจากแบคทีเรียเซลลูโลส เพื่อเจาะตลาดกลุ่มนี้”

ตอบโจทย์อุตฯ อาหาร

สารให้ความคงตัวจากแบคทีเรียเซลลูโลสมีลักษณะเป็นแผ่นวุ้นใส มีคุณสมบัติในการดูดซับหรืออุ้มน้ำไว้ในเส้นใยประมาณ 400 เท่า คืนตัวได้ เป็นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำและและมีความคงตัวในผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ

ปัจจุบันสารให้ความคงตัวฯ อยู่ภายใต้แบรนด์ อีส-ดี (IS-D) ใน 3 รูปแบบคือ ผงฟู เป็นเซลลูโลสบริสุทธิ์ที่มีลักษณะเนื้อฟู, แบบซอส (Paste) เหมาะกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แปรรูปทำให้ผลิตภัณฑ์มีความนุ่มเด้ง และแบบผงละเอียดสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แปรรูปและเครื่องดื่ม คาดว่าจำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเตรียมที่จะเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตเองใน 1-2 ปี

“ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทั้ง 2 อย่างที่วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น ได้ออกสู่ตลาดและสร้างรายได้แล้ว โดยที่ตัวน้ำมะพร้าวเทียมจะตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการขาดวัตถุดิบทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ สู้กับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียที่เป็นคู่แข่งแต่มีปัญหามรสุม ทำให้ผลผลิตไม่แน่นอน ในขณะที่เราไม่ต้องรอความไม่แน่นอนของธรรมชาติ”

ส่วนสารให้ความคงตัวฯ ก็จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารที่เป็นตลาดใหญ่และมีโครงการฟู้ดอินโนโพลิสช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยในอุตสาหกรรมนี้ คาดว่า จะสร้างรายได้ 15 ล้านบาทได้ในเวลา 5 ปี