วศ.ระดมผลงานวิทยาศาสตร์ พลิกโฉมโอทอปอำนาจเจริญ

วศ.ระดมผลงานวิทยาศาสตร์ พลิกโฉมโอทอปอำนาจเจริญ

“กรมวิทยาศาสตร์บริการ” เดินหน้าลุย “อำนาจเจริญ” ระดมองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำร่องเสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ OTOP รองรับโครงการ “Big Rock” สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ

นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้รับมอบหมายจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ดำเนินโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้โครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ Big Rock โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม มาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ OTOP รวมถึงพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน นำร่องใน 10 จังหวัดยากจนที่สุดในประเทศ

โดย จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย วศ. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 135 กลุ่ม แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า 121 กลุ่ม และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 14 กลุ่ม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่ประเมินปัญหาของผู้ประกอบการแต่ละราย และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดสอบ เพื่อจัดทำหลักสูตรถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือให้คำปรึกษาเชิงลึก สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าได้จริง จนนำไปสู่การยื่นขอรับรองมาตรฐานและส่งผลให้เกิดเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ต่อไป

นอกจากนี้ วศ. ยังได้จัดการสาธิตเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ การกำจัดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จักสาน การแสดงนวัตกรรมการย้อมสีธรรมชาติด้วยสีดอกดาวเรืองและสีจากกากกาแฟ เทคโนโลยีบล๊อกปูพื้นจากยางธรรมชาติ และเทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำดื่มน้ำใช้สำหรับชุมชน เป็นต้น

นางอุมาพร กล่าวต่อว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ วศ. นำออกเผยแพร่สู่สาธารณชนนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่จำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP เท่านั้น เช่น เทคโนโลยีบล็อกปูพื้นจากยางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำไปพัฒนาสร้างเป็นพื้นลู่ ลาน ในสนามกีฬาเอนกประสงค์ ถึงประมาณ 65 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งมีการนำไปเป็นยางสร้างถนนและอีกหลายอย่าง ซึ่งก่อประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา รวมถึงช่วยชาวสวนยางพาราไม่ให้เจอปัญหาราคาผันผวน

หรืออย่างกรณี เทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำดื่มน้ำใช้สำหรับชุมชน ซึ่งเกิดจากการที่ะบบการกำจัดสนิมเหล็กในน้ำบาดาลที่ใช้ในปัจจุบัน ต้องใช้สารกรองที่นำเข้าจากต่างประเทศและใช้เครื่องกรองน้ำซึ่งมีราคาแพง จนไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายในชุมชน วศ. จึงได้ทำการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา จนกระทั่งสามารถผลิตสารกรองสนิมเหล็ก และเครื่องกรองน้ำที่มีราคาถูกขึ้นใช้ภายประเทศ รวมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างวิทยากรและเป็นศูนย์กลางขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนต่างๆ ต่อไป

“งานวิจัยชิ้นนี้นับว่ามีประโยชน์มากต่อประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบการโอทอป เพราะกระบวนการผลิตสินค้าโอทอปส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้น้ำสะอาด ซึ่งเทคโนโลยีสารกรองสนิมเหล็กและเครื่องกรองน้ำของเราเป็นเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ทุกคนสามารถนำไปผลิตใช้งานเองได้ทันที ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนจากการซื้อน้ำถังละ 20 บาทมาใช้งานได้อีกด้วย และสามารถมั่นใจได้ว่าน้ำที่ผ่านเครื่องกรองของ วศ. เป็นน้ำที่สะอาด ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรค ไม่ปนเปื้อนสารแปลกปลอมที่อยู่ในน้ำแน่นอน ผิดกับน้ำที่มีขายอยู่ทั่วไปซึ่งแม้จะมองด้วยตาเปล่าเป็นน้ำใส แต่เมื่อตรวจสอบจริงๆ จะพบว่า เป็นน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง วศ. จะเดินหน้าเผยแพร่เทคโนโลยีตัวนี้ไปสู่ชุมชนให้แพร่หลายต่อไป” อธิบดี วศ. กล่าว