IoT ยกระดับธุรกิจการรถไฟอิตาลี Trenitalia

IoT ยกระดับธุรกิจการรถไฟอิตาลี Trenitalia

"ดร.อดิสร" ตั้งข้อสังเกตให้กับ Internet of things (IoT) หรือ อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง แม้จะมาแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการข้อมูล ทำให้การนำมาใช้ไม่เต็มศักยภาพของเทคโนโลยี

Internet of things (IoT) หรือ อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง เทคโนโลยีนี้เป็นที่คุ้นเคยมากยิ่งขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราคาดหวังจะได้เห็นอุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อกันมากถึง 20,000 ล้านอุปกรณ์ทั่วโลกภายในปี 2020 และ สรรพสิ่งที่กล่าวถึงไม่ได้หมายความถึงสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ตัวอย่างเช่น เครื่องขายของอัตโนมัติแบบหยอดเหรียญ เครื่องยนต์เจ็ทของเครื่องบินโดยสาร รถยนต์ไร้คนขับที่จะมีวิ่งในอนาคต เป็นต้น ดังนั้น IoT จะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ด้วยการเปลี่ยนพลิกโฉมธุรกิจธรรมดาให้เข้าสู่ธุรกิจยุคดิจิทัล ปรับตัวเข้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ และช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานและลูกค้า แต่อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของการนำมาใช้ในธุรกิจคือ การไม่รู้จักว่าจะทำอะไรกับเทคโนโลยีนี้ในธุรกิจของตน หรือถ้าบางบริษัทมีการวางแผนทำงานอยู่แล้วเพื่อจะนำ IoT มาใช้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า ใครควรจะเป็นหัวหอกของการนำมาใช้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ CIO หรือ Chief Information Officer ในบริษัทถ้ามี


ตัวอย่างการนำมาใช้และประสบความสำเร็จในต่างประเทศมีมากมาย ซึ่งถ้าเราเรียนรู้ ถอดบทเรียนก็จะสามารถนำมาใช้กับบริบทของบ้านเราได้ ตัวอย่างเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทยก็สามารถใช้บทเรียนจากการรถไฟแห่งชาติอิตาลี หรือ Trenitalia ซึ่งวางแผนนำ IoT มาใช้เป็นเวลา 3 ปีเพื่อลดต้นทุนการดำเนินการและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟ ซึ่งปัจจบันบริษัทมีรถไฟมากกว่า 1,500 ขบวน และวิ่งมากกว่า 7 พันเส้นทางต่อวัน Trenitalia สามารถเปลี่ยนการบำรุงรักษารถไฟแบบเดิมที่บำรุงรักษาตามเวลาหรือระยะทางการใช้งาน มาเป็นการบำรุงรักษาแบบตามสภาพจริงของรถไฟด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ในระบบต่างๆ และได้นำระบบ IoT ร่วมกับโมเดลทางทางการเงินเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น ผ้าเบรกรถไฟ จากเดิมที่ต้องเปลี่ยนตามมาตรฐานระยะทางการวิ่ง เปลี่ยนมาเป็นติดตั้งเซนเซอร์เชื่อมต่อกับระบบ IoT เพื่อทราบถึงสภาพการใช้งานผ้าเบรกที่แท้จริง และสามารถบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ตาม IoT ไม่ใช่คำตอบของทุกคำถาม หรือ One size fits all ในทุกอุตสาหกรรมต้องมีการปรับแต่งให้เหมาะสมในแต่ละการนำไปใช้งาน นอกจากนี้ ข้อมูลจาก บริษัท Gartner ที่ชื่อว่า “Leading the IoT” ได้รายงานไว้เมื่อปีที่ผ่านมาว่า ภายในปี 2020 จะมีบริษัทมากกว่าร้อยละ 65 ที่นำ IoT มาใช้ และมากกว่าร้อยละ 25 ของการโจมตีทางดิจิทัลบนเครือข่ายจะเกี่ยวข้องกับ IoT เราจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเครือข่ายและข้อมูลจากการโจมตีที่ไม่คาดคิด และการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการข้อมูล จะทำให้องค์กรมากกว่าร้อยละ 75 ไม่สามารถใช้เทคโนโลยี IoT ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ดังนั้น การฝึกอบรมด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ จะสามารถลดความเสี่ยงเรื่องนี้ไปอีกมาก ขอให้เราถอดบทเรียนที่ผ่านมาและนำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของท่านและประเทศชาติ

* บทความโดย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ