พร้อมเสิร์ฟ 'ผลงานวิจัย' สู่การกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบายประเทศ

พร้อมเสิร์ฟ 'ผลงานวิจัย' สู่การกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบายประเทศ

สกว.ยกพลประชาคมวิจัยเสวนาการผลักดันงานวิจัยให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยแปลงงานวิจัยเป็น Policy Brief พร้อมเสิร์ฟ สนช. สู่การกำหนดนโยบายประเทศ และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 -ที่ โรงแรมพูลแมนฯ กรุงเทพ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตรพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมงานเสวนา “การผลักดันงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย”เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ผู้ประสานงานโครงการวิจัย สกว. ให้สามารถแปลงงานวิจัยเป็น Policy Briefที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย

โอกาสนี้ รศ.ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ กรรมการวิจัยและพัฒนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนา พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสำหรับกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศ”ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีภาระหน้าที่ที่หลากหลาย และมีความต้องการองค์ความรู้จากผลการวิจัยมาประกอบภารกิจและการพิจารณาต่างๆ เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ การอนุมัติพระราชการกำหนดการตั้งกระทู้ถาม ถึงผลกระทบต่างๆจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะภาคประชาชน

 รวมถึงการพิจารณาให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การเปิดอภิปรายทั่วไป การให้พิจารณาเห็นชอบหนังสือสัญญา การพิจารณาสอบสวน หรือ การศึกษาใดๆที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญ หรือ คณะกรรามการวิสามัญและการติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐ โดยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ งานวิจัยจะเป็นส่วนสำคัญในการประกอบการพิจารณา ในลักษณะของการให้ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ ชี้ประเด็นเชิงนโยบาย และการจัดทำนโยบาย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สกว. และ สนช. ได้มีความร่วมมือในการสื่อสารงานวิจัย ให้ สมาชิก สนช.ได้รับทราบ เพื่อกำหนดทิศทาง ปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้ระบุรัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี...สร้างเสริมความสามารถให้กับประเทศชาติ ที่สำคัญตามมาตรา77 ระบุ การเสนอกฎหมายของหน่วยงานใด ต้องแสดงให้เห็นว่ากำหมายที่เสนอดังกล่าวมีความจำเป็น ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ หากมีกฎหมายเก่าให้สะสาง บูรณาการงานวิจัยเข้ามามีบทบาทในการเปรียบเทียบกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ รวมถึงการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อบ้าน กล่าวคือการจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยองค์ความรู้จากงานวิจัย ของผู้ที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนประเด็นการพัฒนา บริหารแผ่นดิน เช่น การจัดการน้ำ การศึกษา การท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาทางสังคม

สุดท้ายนี้ อยากจะฝากโจทย์การวิจัย ถึงประชาคมวิจัย สกว. ต่อการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา บริหารแผ่นดินโดยรวมนั้นขาดดุลเป็นจำนวนมาก นับสะสมโดยประมาณ ประเทศไทยบริหารแผ่นดินขาดดุลประมาณ 7 ล้านล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยก็จะก้าวผ่านไปได้ งานวิจัยจะต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ

 “ทุกอย่างต้องเร่งดำเนินการ อย่าลืมว่า งบขาดดุลที่สะสมมา เป็นงบประมาณที่รัฐกู้ยืมจากต่างประเทศ และมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ2 หรือ ประมาณ 2 แสนล้านต่อปี ซึ่งหากปล่อยให้มีการบริหารประเทศในภาวะขาดดุลเช่นนี้ต่อไป และอาจต้องใช้เวลามากถึง 70 ปี ในการชำระเงินกู้รวมดอกเบี้ยร้อยละ 2” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวฝากกับประชาคมวิจัย สกว.