พิษผึ้งต้านสิว-ชุดตรวจเอดส์หมู วิจัยเด่นพวอ.

พิษผึ้งต้านสิว-ชุดตรวจเอดส์หมู วิจัยเด่นพวอ.

ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์หมู อุปกรณ์แผ่นพยุงหลังประคบร้อน พิษผึ้งยับยั้งแบคทีเรีย ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นจากนักศึกษาปริญญาโท-เอกโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.)

ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์หมู อุปกรณ์แผ่นพยุงหลังประคบร้อน พิษผึ้งยับยั้งแบคทีเรีย ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นจากนักศึกษาปริญญาโท-เอกในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) หวังสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นนักวิจัย และภาคเอกชนดึงนักวิจัยช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานประชุมวิชาการหัวข้อ “ทลายหิ้งงานวิจัยด้วยกลยุทธ์นวัตกรรม” ด้วยการนำเสนอผลงานวิจัย พวอ. ครั้งที่ 4 รวมทั้งสิ้น 90 ผลงาน จำนวนผู้เข้าชมกว่า 800 คน ที่สนใจนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหา สอดคล้องนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

โชว์ผลงานวิจัยป.เอก-โท

นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า พวอ. เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เอกชนลงทุนทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มขึ้น โดยปีที่ 6 ของ พวอ.ได้ให้ทุนสนับสนุนไปแล้ว 1,300 ทุนทั้งปริญญาโท-เอก คิดเป็นมูลค่า 1,440 ล้านบาท กระจายให้กับสถาบันการศึกษา 1,770 แห่ง ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ 110 ราย และบัณฑิตที่จบจากโครงการนี้ 330 คน

ปีนี้มีผลงานวิจัยเด่นที่น่าสนใจหลายชิ้นที่ส่งผลกระทบอย่างสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ พาณิชย์ และสิ่งแวดล้อม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น และลดรายจ่ายจากการบำบัดสิ่งเหลือทิ้งของกลุ่มชาวบ้าน สหกรณ์ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ นวัตกรรมทางการแพทย์ และยุทธภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากองค์ความรู้ของนักวิจัยหลายสาขา

ยกตัวอย่าง ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์หมู ในฟาร์ม ของนายจักร์เพชร กุ้ยติ้ว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พัฒนาออกแบบให้ใช้ง่ายคล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ของสตรี โดยใช้เวลา 5-10 นาทีแทนการสุ่มตรวจ ที่ใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยในห้องทดลอง หากทำได้สำเร็จจะช่วยในการคัดกรองสุกรก่อนนำเข้าฟาร์มเพื่อขจัดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคและลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

นอกจากนี้ยังมีแผ่นพยุงหลังประคบร้อน ของ นางสาวดวงฤดี ดิษสงวน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทาลัยเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ที่มีอาการปวดหลังที่ต้องมาสถานพยาบาลบ่อยๆ และต้องใช้เวลาทำกายภาพนานอย่างน้อย 1ชั่วโมงขึ้นไป จึงพัฒนาอุปกรณ์พยุงหลังที่มีการประคบร้อนและใช้เซนเซอร์ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยทำกายภาพกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวถูกต้องหรือไม่

สิ่งประดิษฐ์นี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดอาการปวดหลังด้วยตนเองที่บ้าน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด หรือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพิษผึ้งเพื่อยับยั้งแบคทีเรีย ของ นางสาวศิริขวัญ แสงบุญเรือง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาโปรตีนจากพิษผึ้งในการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคบริเวณผิวหนัง รวมทั้งเชื้อดื้อยา สำหรับใช้ภายนอกเพื่อรักษาโรค เช่น ฝี หนอง สิว ในอนาคต

ส่วนผลงานวิจัยอื่นๆ เช่น การปรับปรุงการไหลของกระบวนการและการลดของเสียในการผลิตผลิตภัณฑ์กรองสัญญาณรบกวน ผนังคอนกรีตเสริมเส้นใยกันกระสุนแบบหลายชั้น โปรแกรมคำนวณการจัดกล่องสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ แผ่นรองพรมจากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การแปรรูปและฤทธิ์ทางชีวภาพของสารพฤกษเคมีในถั่วชนิดต่างๆ การเตรียมสารสกัดขมิ้นชันที่มีเคอร์คิวมินอยด์ปริมาณสูงเพื่อป้องกันมะเร็งด้วยวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกลไกการเปิดปิดกระป๋องออกซิเจนแบบสปริง

กระตุ้นคนรุ่นใหม่เรียนสายวิทย์

นายแพทย์ ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สัดส่วนนักวิจัยไทยมี 17 คนต่อประชากร 10,000 คน น้อยมากเมื่อเทียบกับเกาหลี สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย เยอรมนี เนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนผู้เรียนระดับปริญญาตรีในสายวิทยาศาสตร์มีเพียง 30% เท่านั้น ส่วนใหญ่ไปเรียนสายสังคม จึงต้องเร่งกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมองเห็นโอกาสในการเติบโตในอาชีพนักวิจัยมากขึ้น เพื่อที่จะเพิ่มสัดส่วนนักเรียนสายวิทยาศาสตร์เป็น 50%

ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรม ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้น การพัฒนากำลังคนด้าน วทน.จึง เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เฉพาะในระดับปริญญาเอก โท เท่านั้น แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ปริญญาตรี ปวช. ปวส. รวมทั้งการรีสกิลแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย