ข้าวนวัตกรรม เพิ่มรายได้5เท่า

ข้าวนวัตกรรม เพิ่มรายได้5เท่า

ข้าวกล้องอินทรีย์ปลอดสารคุณภาพสูงจากอีสาน สู่การสร้างแบรนด์พรีเมียม “อิ่ม” ช่วยชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก ตอบโจทย์นวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ ด้านเอ็นไอเอชี้ 5 กลุ่มนวัตกรรมข้าวไทยสร้างมูลค่าเพิ่ม 5 เท่า พร้อมเปิดรับผลงานชิงรางวัลนวัตกรรมไทยปี 12

จากประสบการณ์ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงมีโอกาสรับรู้ปัญหาของชาวนาและได้สัมผัสข้าวกล้องพรีเมียมจากมหาสารคาม ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่กลับขายได้ในราคาต่ำ จึงเริ่มคิดที่จะสร้างแบรนด์ข้าวพรีเมียมให้เกิดขึ้น

อิ่มทั้งคนกิน-คนปลูก

กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ประกอบข้าวกล้องอินทรีย์ปลอดสารในชื่อแบรนด์ “อิ่ม” กล่าวว่า ต้องการให้ข้าวไทยเกรดพรีเมียมสามารถขายได้ราคาดี จึงเริ่มมองหาวิธีและพบว่า รูปแบบการบริหารจัดการเป็นสิ่งจำเป็น

“ไวน์ของฝรั่งเศสสามารถขายได้ขวดละเป็นแสน สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นมีความเป็นพรีเมียม หรือกีวี่ของนิวซีแลนด์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี ทำให้เราคิดว่า ข้าวก็ต้องทำได้ หากมีระบบการบริหารจัดการที่ดี จึงเริ่มจากข้าวกล้องอินทรีย์ ไม่มีสารเคมี แล้วพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยใช้ผ้าขาวม้าที่ออกแบบลวดลายโดยดีไซเนอร์ และให้คนในชุมชนทอขึ้น ประกอบกับการตลาดที่มุ่งเน้นการปรับมุมมองและค่านิยมของผู้บริโภคให้เต็มใจที่จะจ่ายเงิน 140 บาทซื้อข้าวสารขนาดบรรจุ 1 กิโลกรัม โดยมองว่า ไม่แพง”

เขาเปรียบเหมือนคนที่เลือกดื่มกาแฟแก้วละ 200 บาท แทนที่จะดื่มกาแฟกระป๋องละ 20 บาท เพราะยอมรับในคุณภาพ บริการดี ทำให้ราคาที่จ่ายไม่ได้แพงเลย

ตอนนี้ กรณ์ทำโมเดลธุรกิจนี้กับ 1 หมู่บ้านที่มีข้าวเปลือกปีละ 100 ตัน สีแล้วจะเหลือข้าวกล้องอินทรีย์ปลอดสาร 60 ตัน ซึ่งขายหมดทุกปี จึงเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จและอยากที่จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างข้าวพรีเมียมที่ขายในราคาพรีเมียมได้

“เมกะเทรนด์ในเรื่องของการเพิ่มจำนวนประชากรโลก จะส่งผลถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น ประเทศที่เป็นผู้ผลิตอาหารก็ถือว่ามีโอกาสสูง ในขณะเดียวกัน ประชากรที่เพิ่มจำนวนในอนาคตอาจจะไม่ได้มองหาสินค้าที่เป็นแมส แต่ต้องการคุณภาพและคุณค่าที่มากกว่า ในราคาพร้อมจ่าย ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยหรือนวัตกรรมเกษตรและอาหาร จะช่วยตอบความต้องการของตลาดในอนาคตได้”

5 นวัตกรรมข้าวเพิ่มค่า

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมข้าว แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมในระบบการเพาะปลูกข้าว เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูงหรือสารอาหารสูง เช่น โกลเด้นท์ไรซ์ของฟิลิปปินส์มีสารเบต้าแคโรทีนสูง,

ข้าวไทยกับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ข้าวที่ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณค่าสารอาหาร แป้งข้าวเจ้าสำหรับการควบคุมน้ำหนักและผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวหมัก, ข้าวไทยกับอุตสาหกรรมยาหรืออาหารเสริม เช่น การสกัดสารโอรีซานอลจากข้าว ที่มีรายงานการวิจัยว่า สามารถลดหรือป้องการการอุดตันของหลอดเลือด และลดการเกิดออกซิเดชันของไขมัน การสกัดสารไฟโตสเตอรอลทำหน้าที่ลดระดับคลอเลสเตอรอล ยับยั้งการสร้างไขมันแอลดีแอล ยับยั้งเซลล์มะเร็งและปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน,

การนำข้าวไปใช้ในเครื่องสำอาง เช่น Kojic acid มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว Hydrolyzed rice bran protein เมื่อถูกนำผสมกับโปรตีนถั่วเหลืองจะมีคุณสมบัติลดรอยขอบตาดำ และ Rice peptides สามารถปกป้องผิวหนังจากคลอลาเจนที่เสียหาย,

และ​กลุ่มที่ 5 นวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น แกลบข้าวถูกไปใช้ในอุตสาหกรรมยางรถจักรยาน เพื่อให้มีลักษณะเบาและยืดหยุ่น แกลบข้าวผสมทำพื้นผิวถนน และแกลบหรือฟางข้าวใช้ในบรรจุภัณฑ์่ย่อยสลายได้

“กลุ่มเป้าหมายของนวัตกรรมข้าวอยู่ที่ ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีกำลังซื้อสูงและตื่นตัวในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติในทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนจากชีวมวล ถ้าสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทย 5 เท่าตัว”

ทั้งนี้ เอ็นไอเอร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันซึ่งก้าวสู่ปีที่ 12 คัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่นและศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ “ข้าวไทย” มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยปี 2560 ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้ว 7 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนประมาณ 8.3 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 24 ล้านบาท