สัมพันธ์ 'ออสเตรเลีย-ไทย' ฝ่ามรสุมกีดกันการค้า

สัมพันธ์ 'ออสเตรเลีย-ไทย' ฝ่ามรสุมกีดกันการค้า

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างออสเตรเลียและไทยมีความเข้มแข็งและศักยภาพในการเติบโตสูงมาก

โดยทั้ง 2 ประเทศจำเป็นจะต้องรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นเช่นนี้ต่อไปเพื่อที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ตลาดโลกกำลังเผชิญปัญหาจากนโยบายปกป้องทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยและออสเตรเลียมีความสนใจร่วมกันในการสนับสนุนและขยายการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน และกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค การที่สามารถขายสินค้าและบริการให้กับตลาดโลกได้จะช่วยพัฒนาอาชีพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การวางกรอบการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคไว้อย่างมั่นคงจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยรับรองความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียและไทยได้ในอนาคต

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีรากฐานมาจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่มั่นคง การบริหารจัดการทางเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออกให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และความมุ่งมั่นต่อการเปิดตลาดเสรี

รัฐบาลไทยได้สานต่อแนวคิดนี้ผ่านการประกาศใช้ ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะทำหน้าที่เป็นพิมพ์เขียวในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโดยมีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยการที่จะทำให้วิสัยทัศน์นี้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้น ประเทศไทยจะต้องเน้นการพัฒนาที่ก้าวข้ามเขตแดน

นอกจากนี้ นโยบายปกป้องทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลกได้กลายมาเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการวางกลยุทธ์ในหลายๆประเทศ แม้ในกลยุทธ์เพื่อการเติบโตที่มีการออกแบบมาอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่เศรษฐกิจมีการส่งออกเป็นหัวใจสำคัญ โดยปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ออสเตรเลียมีความเข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงตลาดโลกเหมือนกับประเทศไทย

ออสเตรเลียและไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโอกาสต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ผลมาจากความตกลงทางการค้าต่าง ๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งมีการลงนามเมื่อกว่า 1 ทศวรรษที่แล้ว

ความตกลง TAFTA เป็นความตกลงทางการค้าฉบับแรกที่ไทยได้ลงนามร่วมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยและประเทศออสเตรเลียต่างให้ความสำคัญกับการค้าเสรีด้วยกันทั้งคู่

นับตั้งแต่การลงนามใน 2548 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและส่งผลประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ประเทศ

นอกจากนี้ การสิ้นสุดลงของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ในปี 2553 ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วม ได้วางโครงสร้างเพื่อการเติบโตในภูมิภาค

ประเทศไทยและออสเตรเลียต่างมีศักยภาพในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยสามารถเรียนรู้วิธีการพัฒนาบุคคลากรได้จากอุตสาหกรรมความรู้ของออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการศึกษาที่ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

อีกทั้ง ประเทศไทยยังสามารถเรียนรู้การเพิ่มขีดความสามารถและจุดแข็งในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ออสเตรเลียมีความชำนาญได้ อาทิ เกษตรกรรม การบริการสุขภาพ และการท่องเที่ยว

ยิ่งไปกว่านั้น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับประเทศไทย ออสเตรเลีย และภูมิภาค ความตกลงนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่แห่งคุณค่าและเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค

นอกจากนี้ ความตกลงนี้จะยังช่วยสร้างเสริมอาชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดียิ่งขึ้น

ออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการค้าของทั้ง 2 ฝ่าย ออสเตรเลียและไทยจะต้องร่วมมือกันในการขจัดนโยบายปกป้องทางการค้าและสนับสนุนการค้าเสรีในภูมิภาค