“เลิฟอีส” สู่ “ไลฟ์อีส” ธุระใจเชื่อมธุรกิจ

“เลิฟอีส” สู่ “ไลฟ์อีส” ธุระใจเชื่อมธุรกิจ

เมื่อดิจิทัลปั่นป่วน“ค่ายเพลง” ผลักให้“เลิฟอีส”จัดทัพใหม่ ดึงมืออาชีพเชื่อมธุรกิจ ผ่านคอนเทนท์ “ความหวัง พลังบวก” ขณะ“บอย โกสิยพงษ์”เจ้าของค่าย ถอยฉากสู่ธุรกิจเพื่อสังคม“ไลฟ์อีส”ผ่านเอ็กพรีเรียนซ์ อีเวนท์ โยง 8 เซ็กเมนท์คน สังคมเกื้อกูล ธุรกิจยั่งยืน

เมื่อ บอย โกสิยพงษ์  หรือ ชีวิน โกสิยพงษ์  หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มือปั้นค่ายเพลงเล็กๆในชื่อ “เบเกอรี่ มิวสิค” (ก่อตั้งในปี 2538) จนพัฒนามาสู่ค่ายเพลงไซด์กลางในชื่อ “เลิฟอีส” (LOVEiS) ในปัจจุบัน ผ่านช่วงเวลาในธุรกิจเพลงกว่า 24 ปี

จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในค่าย กับ“บทบาทใหม่”ของบอย  ที่ถอยฉากจากตำแหน่งผู้บริหาร มานั่งเก้าอี้ตัวเดิมที่รัก คือ “นักแต่งเพลงประจำค่าย”  ยืนยันได้จากนามบัตรของเขา ที่ระบุตำแหน่ง “นักแต่งเพลง และผู้ผลิต” (Song Writer & Producer)

“นักแต่งเพลงเป็นอาชีพที่ผมชอบ เหมือนหายใจ ไม่เบื่อที่จะหายใจ ผมไม่เคยเปลี่ยนตำแหน่งในนามบัตร และจะทำไปจนตาย ส่วนตำแหน่งผู้บริหารเป็นสิ่งที่ผมไม่ถนัด เหมือนเป็นปลาแล้วไปปีนคนไม้แทนที่จะว่ายในน้ำ”

 เลิฟอีสในวันนี้จึงมีหุ้นส่วนที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดูแลธุรกิจ คือ เทพอาจ กวินอนันต์” นักธุรกิจที่ทำหลากหลายธุรกิจ เป็นทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บริวเบอรี่ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย เบียร์ชั้นนำจากต่างประเทศ อาทิ สเตล่า อาร์ทัวร์ (Stella Artois), ฮู การ์เด้น (Hoegaarden) , บอดดิงตันส์ (Boddingtons) และ เลฟ บราวน์ Leffe Brune และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทในเครือรอยัล เกทเวย์ เจ้าของ HOBS (House of Beers)  โดยเทพอาจจะเข้ามานั่ง เป็นผู้ถือหุ้น และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ค่ายเพลงเลิฟอีส บอยเล่า

เบื้องหลังการเข้ามาเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของค่ายเพลงนี้ กรงเทพธุรกิจ BizWeek มีโอกาสได้พูดคุยกับ เทพอาจ เขาเล่าว่า เริ่มต้นจากการเป็นแฟนเพลงตัวยงของค่ายตอนยังเป็นวัยรุ่น  สุดท้ายได้กลายมาเป็นสปอนเซอร์ประจำในงานคอนเสิร์ตของค่าย จนเลื่อนลำดับความสนิทสนมกับคนในค่ายเสมือนเป็นคนในครอบครัว 

โดยเขาเป็นนักธุรกิจที่มีใจรักเสียงเพลง และชื่นชมในบทเพลงรัก ท่วงทำนองที่มีความหวังพลังใจของบอย จึงเป็นที่มาของการมาสานต่อธุรกิจค่ายเลิฟอีส อย่างเต็มตัว

ในมุมมองธุรกิจ ซีอีโอใหม่เชื่อว่า ค่ายเลิฟอีส คือค่ายเพลงขนาดกลาง ที่มีอาวุธลับทะลุทะลวง จิตใจคนฟังได้ในทุกยุค แม้ในยุคที่เทคโนโลยีปั่นป่วน 

“เราเชื่อว่าเป็นโอกาสของค่ายขนาดกลาง ขยับตัวได้เร็ว ลงทุนไม่สูง เรามีฐานแฟนเพลงเก่า และเราก็เชื่อมต่อแนวเพลงใหม่เข้ากับคนเจนใหม่ ธุรกิจเพลงยังไงก็ไปได้ ตราบใดที่คนยังฟังเพลง เพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน” เขายังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมเพลงไม่มีวันตาย เพียงแค่ย้ายแพลตฟอร์มสู่ดิจิทัลและรูปแบบการทำธุรกิจเท่านั้น ขณะที่เลิฟอีสยังมีความได้เปรียบจากขนาดทำให้มีความคล่องตัวสูงเก็บแต้มเจาะฐานคนฟังในโลกโซเชียลหลายกลุ่มจนขยายสู่ผู้ฟังกลุ่มแมส แทรกซึมแทบทุกเจนเนอเรชั่นคนฟัง ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน 

ทว่า ธุรกิจเพลงก็ต้องปรับตัว ให้ทันกับความก้าวหน้าเทคโนโลยี ในวันที่ผู้คนไม่ต้องเสียเงินซื้อเพลงฟัง   

เทพอาจ ยังบอกว่า สิ่งที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเขากับบอยคือ เราเป็นคนละขั้ว หยินหยาง พี่บอยอยู่ฝั่งขาว แต่ผมมีความเป็นนักธุรกิจ แต่เรามารวมกันอย่างลงตัว

เลิฟอีส และ บริวเบอรี่ จึงเป็นการจับคู่อย่างลงตัวในยุคแห่งความร่วมมือ ตั้งแต่ต้นน้ำ คนแต่งเพลง เชื่อมต่อกับสปอนเซอร์ คนปลายน้ำ ในยุคที่รายได้หลักมาจากงานคอนเสิร์ต โชว์บิส มากกว่าการขายเพลง จึงต้องเข้าใจความต้องการผู้ชมในยุคที่เพลงหาฟังได้หลายช่องทาง แต่สิ่งที่ทำให้เพลงจับใจคนได้เหนือกว่าคือ “การแสดงสด” เพราะเป็นการสร้างประสบการณ์ (Experience) ไปแตะใจคนฟัง ให้ซาบซึ้ง และจดจำในเนื้อหาบทเพลง  

ขณะที่บอยเมื่อถอยตัวเองจากการบริหาร ทำงานแต่งเพลงที่เขารัก และเขาหันไปทำในสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้ คือ ธุรกิจเพื่อสังคม (SE-Social Enterprise) ในชื่อบริษัท ไลฟ์อีส” (LifeiS) โดยเขามีตำแหน่งเป็นผู้ก่อตั้ง และมี "นภ พรชำนิ ทำหน้าที่เป็นประธานบริหาร(ซีอีโอ) บริษัท ไลฟ์อีส จำกัด

โดยแนวคิดของธุรกิจเพื่อสังคมนี้ มาจากความฝันที่ต้องการเปลี่ยนสังคมสู่สังคม โลกสวยในอุดมคติ ท่ามกลางยุคโซเชียลที่เต็มไปด้วยเรื่องดราม่า ขณะที่เยาวชนบางส่วนแสดงออกในทางที่ผิดผ่านสื่อโซเชียล บอยเชื่อว่าพฤติกรรมทางลบของคนในสังคม รวมถึงเยาวชน ในยุคนี้ เป็นผลพวงมาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ ปลูกเมล็ดพันธุ์ของวันวานไว้จนเติบใหญ่ 

ปลูกอะไรไว้ในอดีตก็ได้อย่างนั้น สังคมมีแต่โกรธ ชัง อิจฉาริษยา อยากเด่นอยากดัง ผู้ใหญ่ในวันนั้นได้ปลูกอะไรไว้เด็กๆที่เติบใหญ่จึงเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าเรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ จึงชวนเพื่อนเริ่มต้นมาปลูกความหวังดีในธรกิจที่ตั้งขึ้น” บอยเล่า

แนวคิดนี้จึงพัฒนาขึ้นในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่เพียงการเสียสละ แต่ธุรกิจต้องมีรายได้หล่อเลี้ยงตัวเอง ธุรกิจเพื่อสังคมจึงจะยั่งยืน 

หากธุรกิจเพื่อสังมคมไม่แสวงหากำไรก็ไม่มีใครทำ สุดท้ายเราก็อยู่ไม่ไหว เราจึงอาสาเป็นพนักงานเก็บขยะ (ผู้ผลิตคอนเทนท์ จัดอีเวานท์น้ำดี) เพื่อให้บริษัทห้างร้านจ่ายเงินเรา โดยการร่วมเป็นสปอนเซอร์ทำเรื่องดีๆร่วมกัน เขาอธิบาย

โดยบอย แบ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไปสื่อสาร สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการเป็นผู้แกะปม ปลดล็อกปัญหาของแต่ละช่วงชีวิต (Life Stage) ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เป็น 8 โปรดักท์(ผลิตภัณฑ์) เจาะ 8 เซ็กเมนท์

ซึ่งมีบอย และเพื่อนศิลปิน จากค่ายเลิฟอีส ที่เป็นไอดอลของคนในแต่ละวัย ทำหน้าที่เป็นฮีโร่ (Hero) ผู้ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าไปเป็นผู้นำต้นแบบ สื่อสารกับกลุ่มคนแต่ละช่วงวัย ผ่าน อีเวนท์ และคอนเทนท์ ประกอบด้วย

1.วัย 0-5 ปี (early childhood) ฮีโร่ที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้คือ “นพ พรชำนิ” ดึงภรรยา ดร.เพลิน ประทุมมาศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเสริมพัฒนาการเด็ก มีประสบการณ์การพัฒนาทักษะในเด็ก (Maximize potential) มาเสริมทีม

2.ช่วงอายุ 6-12 ปี  (ระดับประถม 1-6) มีฮีโร่ คือ “โต๋ - ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร” ศิลปินและนักแต่งเพลง ที่เรียนเก่งได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เข้าไปนำวิธีการใช้ดนตรี สร้างเสริมสมาธิในเด็กให้มีความตั้งใจในการเรียนรู้ ฝึกฝน

3.ช่วงอายุ 13-15 ปี ( มัธยมต้น ) เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะเป็นวัยที่เริ่มต้นเลือกอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า “บอย” จะทำหน้าที่เป็นฮีโร่ เพราะเป็นวัยที่เขาเข้าใจ ใช้ประสบการณ์วัยนี้เรียนได้อันดับบ๊วย แต่กลับหันมาเอาดีเป็นนักแต่งเพลงได้ เพื่อต้องการชี้นำให้เด็กมองเห็นว่า ทุกคนเป็นคนเก่งในแบบที่่ตัวเองถนัดถึง 8 ด้านตามทฤฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligence) โดยไม่จำกัดตัวเองเกรดแค่เพียง สายวิทย์ หรือสายศิลป์ 

4.ช่วงอายุ 16-18 ปี (มัธยมปลาย) วัยฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่านต้องเข้าไปดึง ไม่ไปติดกับดักสิ่งยั่วยุผิดทาง โดยมี “อุ๋ย- บูดด้า เบลส” เป็นฮีโร่ เพราะมีประสบการณ์เคยเกเรมาก่อน โดยใช้ดนตรีฮิปฮอปบอกเล่าและดึงเด็กกลับมา

5.ช่วงอายุ 19-22ปี (ระดับมหาวิทยาลัย) วัยที่ต้องเลือกอาชีพในอนาคต จะมี “หนุ่ย- พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” พิธีกรชื่อดังจากแบไต๋ ไฮเทค มาแนะแนวอาชีพ และชวนเด็กที่ฝืนเรียนกับภาควิชาที่ตัวเองไม่ถนัด กล้าที่ออกมาเรียนใหม่ในสาขาวิชาที่ใช่

6.ช่วงอายุตั้งแต่ 22-40 ปี (วัยผู้ใหญ่ -Young Adult) เป็นช่วงหลังเรียนจบแต่งงาน (Staying in love) เริ่มต้นทำงานสร้างครอบครัว จึงปลูกความรักและความเข้าใจในชีวิตคู่ รวมถึงความสัมพันธ์ในสังคม ฮีโร่ ในช่วงวัยนี้คือ บอย และอาจารย์วาระ มีชูธน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดำเนินชีวิตและการใช้ชีวิตคู่

“ชีวิตแต่งงานก็เหมือนกับการขับรถ ต้องเรียนรู้ เพราะคนมาจากสองบ้านมาอยู่ร่วมกันโอกาสชน ทะเลาะกันมีอยู่มาก จึงควรมีไกด์ไลน์ในการดำเนินชีวิต”

7.ช่วงอายุ 40-60 ปี (วัยกลางคน -Mid Life) เป็นช่วงเริ่มประสบความสำเร็จในชีวิต จึงต้องปลูกค่านิยมการแบ่งปัน ช่วงวัยนี้ยังไม่มีฮีโร่เข้ามาร่วม

8.ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ช่วงวัยทอง (Golden Year) วัยเกษียณในบั้นปลายชีวิต มักรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว จึงมีฮีโร่ อย่าง พี่ปุ๊ อัญชลี จงคดีกิจ และพี่ต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างสนุกและวางแผนชีวิตวัยเกษียณได้อย่างดี ชวนทำกิจกรรม ให้วัยนี้สนุก มีสังคม มีเพื่อน เพื่อให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

-----------------------------

สูตรธุรกิจทำดี-ไม่ต้องเสียสละ

บอย โกสิยพงษ์ ในฐานะผู้ก่อตั้งไลฟ์อีส ยังเล่าถึงที่มาของแหล่งรายได้ของไลฟ์อีกว่ามาจาก 2 ทาง คือ การหาสปอนเซอร์ และการขายตั๋ว เข้าร่วมกิจกรรมอีเวนท์ เพียงแค่เริ่มต้นขายไอเดีย มีสปอนเซอร์ ก็มีผู้สนับสนุน ที่ทำสัญญาณระยะยาวแล้ว 3 ราย

“ผมอยากดึงสังคมแห่งการเกื้อกูลของคนไทยในอดีตกลับคืนมาเป็นความหวังให้กับโลกเรา และประเทศเราในอนาคต” บอยเล่าเบื้องหลังการขายไอเดียให้เหล่าสปอนเซอร์ 

ส่วนรายได้อีกทางหนึ่งคือ ขายบัตร จัดกิจกรรม ดึงคน ที่มีตัวชูโรงคือการเข้าไปแตะใจคน ผ่านอีเวนท์สร้างประสบการณ์(Experience Event) ที่ทำให้รู้สึกการมีความหวังและพลังบวก อยากส่งต่อสิ่งดีๆ โดยการออกแบบอีเวนท์ สร้างแรงบันดาลใจ ่ในรูปแบบต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต ทอล์คโชว์ สัมมนา นิทรรศการ รายการทีวี หรือ โซเชียลมิเดีย รวมถึง จัดมหกรรมรวบรวมองค์กรคนทำดี คนแบ่งปัน (เอ็กซ์โป)

“โปรดักท์โดดเด่นคือเน้นสร้างประสบการณ์ เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ธุรกิจจะยั่งยืน ถ้าสิ่งที่ทำได้เข้าไปแก้ไขปมปัญหาการดำเนินชีวิตของแต่ละช่วงชีวิต(Pain point)”

อย่างที่รู้กันว่าบอยเป็นนักแต่งเพลงที่ถนัดด้านงานสร้างสรรค์ แต่ไม่ถนัดกับการวาดภาพธุรกิจ นอกจากจะมี นภ พรชำนิ เป็นซีอีโอแล้ว ยังมีที่ปรึกษามืออาชีพอย่าง “ชาตรี ศรีวิจิตร” หุ้นส่วน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แคลริส จำกัด ประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทชั้นนำอาทิ ธนาคารกสิกรไทย บริษัทในกลุ่มไทยซัมมิท

โดยชาตรี เล่าถึงโมเดลธุรกิจวางไว้ 7 ปี แบ่งเป็น 3 เฟส ประกอบด้วย เฟสแรก ระยะสั้นภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เป็นการสร้างการรับรู้ เห็นแสงสว่างและความหวัง (Awareness) ในทั้ง 8 ช่วงชีวิต(Life Stage) ผ่านกิจกรรมเพื่อให้ดึงให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

เฟสสอง เดินคู่ขนานกันกับเฟสแรก หลังคอนเสิร์ต หรือ อีเวนท์ จากนั้นก็ดึงมาอยู่ในสมาชิก “ครอบครัว LifeiS “ เป้าหมาย 1 แสนรายในปีแรก รวมถึงการดึงให้องค์การภาคประชาสังคม และมูลนิธิต่างๆ เข้ามาเป็นเครือข่าย ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งด้านการหาเงิน จัดกิจกรรม

“มาดูคอนเสิร์ต มีความสุข แตะใจคน กลับบ้านแล้วทุกคนอยากแบ่งปันสิ่งดีๆให้กับคนอื่น จึงชวนมาร่วมเป็นสังคมเดียวกัน เป็นสมาชิก ให้มีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมในมุมที่ตัวเองถนัด ไม่จำกัดเพียงเงิน มีทั้งความรู้ ไอเดีย ”

ตามแผนที่วางไว้ครอบครัวไลฟ์อีส ประกอบด้วย มูลนิธิ องค์กรภาคประชาสังคม,ฮีโร่ 8-10 คน และมีสมาชิกเป็นล้านภายใน 7 ปี

เฟสสาม ให้เริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมอย่างจริงๆ ที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นต้นแบบให้กับมูลนิธิ องค์กรการกุศล ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศน์ให้ SE เติบโต ในเฟสนี้ยังมีแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง มีแนวร่วมจากหลากหลายธุรกิจ

“แผนทั้งหมด 7 ปี มีการพัฒนาเป็นคลาวด์ฟันดิ้ง ระดมทุน รวมถึงเป้าหมายสมาชิก 1 ล้านคน “

ชาตรี สรุปกลยุทธ์ 3 เฟส จะถูกแบ่งเป็นช่วงเวลาของระดับการเป็นสมาชิก 3 สเต็ป คือ1. ไลฟ์สเตจ (Life Stage) เข้าไปสร้างการรับรู้ใน 8 ช่วงชีวิต ผ่านกิจกรรม “เอ็กซ์พีเรียนซ์ อีเวนท์” เพื่อดึงมาเป็นครอบครัว “ไลฟ์อีส” 2.เติมไลฟ์ ซัพพลีเมนท์ (Life Supplement) วิตามิน บำรุงหัวใจ โดยเนื้อหา (Content) บำรุงจิตใจ ให้ความหวัง พลังบวก เพื่อให้คนในครอบครัวไปส่งต่อความรู้สึกนี้ไปให้กับสังคมผ่านวิธีการที่แตกต่างกัน และ 3. ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) อยากให้ความหวังดี และคนดีๆ ในแบบวิถีชีวิตที่คล้ายๆ อยู่ในครอบครัว มีคนคิดเหมือนกัน ชอบทำอะไรคล้ายๆ กัน มารวมตัวกันทำสิ่งดีๆ ที่จะเอาไปแอพพลายใช้ในการดำเนินชีวิต ชีวิตเรียน ทำงาน ชีวิตครอบครัว

----------------------------

เลิฟอีสเดินมาถึงจุดเปลี่ยน"หัวเรือ"

เมื่อชีวิตธุรกิจของผู้ก่อตั้ง”เลิฟอีส” “บอย โกสิยพงษ์” ลุกจากเก้าอี้นักบริหาร เปลี่ยนหัวเรือเป็นหุ้นส่วนซีอีโอหนุ่ม เทพอาจ กวินอนันต์ นักธุรกิจคนปลายน้ำ ผู้อยู่เบื้องหลังโชว์โดยเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์โชว์คอนเสิร์ตอันสุดอบอุ่น กินใจหลายเวทีของค่ายเลิฟอีส

“เทพอาจ” บอกถึงภารกิจของการมารับหน้าที่เป็น “หัวเรือ” ค่ายเพลงมาจากความรักและหลงใหลเสียงเพลง และต้องการให้เลิฟอีสขยายฐานคนฟังในยุคที่มีเครื่องมือหลากหลายโดยใช้คุณค่าหลัก(Core Value)ของค่ายที่ บอยและนภ ได้สร้างเอาไว้”คือ”ความหวัง ความรัก และพลังบวก”

ก่อนเข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัวตั้งแต่ต้นปี 2561 ได้เข้ามาศึกษาโครงสร้างธุรกิจบันเทิงของค่ายเพลงแห่งนี้ตั้งแต่ปีที่แล้วกว่า 1 ปี

“ผมเป็นแฟนเพลงพี่บอยตั้งแต่ยุคเบเกอรี่ เติบโตมากับเพลงดนตรีในแง่บวกของพี่บอยที่หล่อหลอมมา จนมารู้จักพี่บอยก็ส่งข้าวส่งน้ำมาตลอด จนเมื่อถึงจุดหนึ่งจึงอยากเข้ามาเป็นส่วนธุรกิจค่ายเพลง"

ด้าน ระวิน ศุภวานิช  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บริวเบอรี่ จำกัด และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เลิฟอีส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด มือขวาของ เทพอาจ ที่เข้ามาช่วยจัดวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้คุณค่าแบรนด์ “เลิฟอีส” ส่งต่อความหวัง พลังบวก โดยมองว่า

ดนตรี คือวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตทุกคนผูกพันอยู่กับดนตรี ดนตรีจึงเป็นจิตวิญญาณของการเข้าถึงผู้คนและชี้นำเทรนด์ได้" ระวินให้มุมมองการที่สปอนเซอร์เข้ามาเชื่อมต่อกับงานเพลง

โดยใช้”คุณค่าทางแบรนด์เลิฟอีส”ผ่านกลุ่มธุรกิจบริษัทลูก แตกเซ็กเมนท์ 4 บริษัทในเครือ ที่มีแนวเพลงแตกต่างกันไปเพื่อตอบโจทย์ฐานผู้ฟังแต่ละกลุ่ม

ประกอบด้วย 1.เลิฟอีส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ 1.ลาวองท์การ์ด (L’ AVANT-GARDE) แนวเพลงแจ๊ส ดูแลโดยนภ พรชำนิ ทำดนตรีแนวซีเรียส ที่เน้นโสตของการฟังเส้นเสียงของดนตรี ซึ่งดนตรีแจ๊ส จึงมีวิธีการเข้าไปให้ความรู้กับคน ถึงประโยชน์ของการเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก เพราะน้ำหนักของดนตรีแจ๊ส ช่วยให้การสูบฉีดเลือดในสมองดีขึ้น จึงช่วยเพิ่มรอยหยักของสมอง โดยออกสินค้าลำโพงลิมิเต็ด อิดิชั่นสำหรับการฟังเพลงแจ๊ส 200 ตัว ตัวละ 25,000บาทขายหมดเกลี้ยง ในงานคอนเสิร์ตดนตรีแจ๊ส 

3.โฮลี่ ฟอกซ์ (HOLY FOX) แนวเพลงป๊อป รวมตัวของรูม39 มาพัฒนาเพลง และ 4.เอสคาเลท (ESCALATE) แนวเพลงสายไอดอล ปั้นศิลปินคนรุ่นใหม่

สิ่งที่เป็นข้อโดดเด่นของแต่ละค่ายจะเข้าถึงแฟนเพลงนอกจากการจัดกลุ่มแบ่งเซ็กเมนท์ตามความชอบของฐานแฟนเพลงแล้ว ยังมีศิลปินในค่ายที่มีความเชี่ยวชาญทางดนตรี

“ศิลปินและนักดนตรีในค่ายมีความหลากหลาย มีประสบการณ์สูง ไม่ได้เก่งเพียงแค่เป็นนักร้องแต่มีทักษะทางดนรีที่แตกต่างกัน จึงเจาะเข้าไปในหลากหลายเซ็กเมนท์ได้”

นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับค่ายต่างประเทศ โดยการเป็นพาร์ทเนอร์ที่เป็นเกตเวย์พาไปต่างประเทศ คือ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ค่ายเพลงญี่ปุ่นโยชิโมโต้

ยึดถือแนวทางการทำงานร่วมกันคือการแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่ผูกมัดศิลปิน และไม่เป็นเจ้าของเพลงที่แต่ง รวมไปถึงการพร้อมทำงานข้ามค่าย เพราะยุคนี้เป็นร่วมมือกันเพลงไม่ชนกันอย่างในอดีต

สิ่งที่ต้องรุกต่อไปคือการขยายฐานคนฟัง เพราะเลิฟอีสเติบโตและจับตลาดกรุงเทพฯ และคนในเมืองเป็นส่วนใหญ่ จึงกำลังวางโปรแกรมการทัวร์คอนเสิร์ตในในต่างจังหวัด

สำหรับปีแรกของจุดเปลี่ยนเลิฟอีส ภายหลังปรับโครงสร้างใหม่ รายได้จากเกิดจากหลายทางเติบโตมากกว่า 10% และเป็นการเติบโตแข็งแกร่งเพื่ออนาคต ในวันที่ค่ายไม่มีบอย หรือหััวเรือคนอื่น ธุรกิจและคุณค่าของค่ายยังถูกถ่ายทอดความเป็น“เลิฟอีส” ให้คนฟังต่อไป

ขณะที่เทพอาจ ซีอีโอและหุ้นส่วนค่ายเพลงในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงเป็นนักลงทุนทางธุรกิจ แต่ยังต้องการเข้ามาสัมผัสชีวิตศิลปินที่ใครว่ากันว่าไส้แห้งนั้นจริงไหมด้วยการ “สลัดสูทจับไมค์” ชิมลางเป็นศิลปินในค่าย

ผมเห็นศิลปินบางคนเล่นตามผลับแบบร้องด้วยอารมณ์ แต่ได้เงินแค่คืนละ 600 จึงอยากเข้าใจชีวิตศิลปิน ชีวิตศิลปินต้องดีกว่านี้ เขาเล่าถึงแพสชั่นส่วนตัวที่เข้ามาทำเพลง

เขามองว่า บริหารค่ายเพลง แตกต่างจากบริหารธุรกิจ เพราะธุรกิจที่เคยทำมันคือสินค้า”จับต้องได้” แต่งานเพลงมันคือ”คุณค่าที่จับต้องไม่ได้” เราไม่สามารถบังคับให้คนแต่งเพลงที่มีคนมาฟังเพลงให้ดังได้ ทุกอย่างมาจากอารมณ์ความรู้สึก มันคือการบริหารคน(People Management) ที่เราต้องเข้าไปเรียนรู้ศิลปิน และจัดวางให้ตรงจริต ความต้องการของตลาด