'นวัตกรรม'ยกระดับการแพทย์ไทย

'นวัตกรรม'ยกระดับการแพทย์ไทย

นาฬิกาวัดการสั่นสกรีนโรคพาร์กินสัน และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกป้องกันฟันผุในเด็ก ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้รับอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพคนในประเทศ

นาฬิกาวัดการสั่นสกรีนโรคพาร์กินสัน และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกป้องกันฟันผุในเด็ก ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้รับอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และผลักดันสู่การใช้งานจริง ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพคนในประเทศ

"สวรส.เน้นระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ปี 2557 โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้งานจริงเพื่อแก้ปัญหางานวิจัยขึ้นหิ้ง โดยได้ขอความร่วมมือองค์การเภสัชกรรมช่วยกระจายผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก หรืออาจจะให้กรมอนามัยช่วยแนะนำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันฟันผุ เพื่อสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดจึงไม่สามารถซื้อแจกเหมือนสมัยก่อน” นายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว

จุลินทรีย์ป้องกันฟันผุ

ผลิตภัณฑ์โพรโบโอติกเพื่อสุขภาพฟันดีของเด็กไทย โดย ศ.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังจากศึกษาและทดสอบแล้วพบว่า โพรไบโอติกสามารถป้องกันฟันผุด้วยการสร้างสารยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อก่อโรคฟันผุและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำลาย ทำให้จำนวนเชื้อก่อโรคฟันผุลดลง

นักวิจัยได้ต่อยอดการศึกษาโดยผสมโพรโบโอติก ในนมผงสำหรับเด็กเล็ก จากนั้นติดตามผลในการป้องกันฟันผุในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟันผุหรือที่มีฟันผุเริ่มแรก เพื่อหาความถี่และระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับนมผสมโพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้นมโพรไบโอติกแบบต่อเนื่อง และกลุ่มที่ได้รับ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราการเกิดฟันผุใหม่และฟันผุลุกลามน้อยกว่ากลุ่มที่ได้นมไม่มีโพรไบโอติก ทั้งยังพบว่า การชะลอฟันผุเริ่มแรกและการยับยั้งฟันผุลุกลาม สามารถช่วยเปลี่ยนไปเป็นฟันปกติได้ ดังนั้น การได้รับนมโพรไบโอติกเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอในการป้องกันฟันผุได้

ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 ให้กับบริษัท เกร็ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ในรูปแบบผงผสมกับเครื่องดื่มหรืออาหาร และอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี โพรไบโอติกสายพันธุ์Lactobacillus rhamnosus SD11 กับ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด ในรูปแบบโยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมอัดเม็ด และ บริษัท เดนทัล สวีส จำกัด ในรูปแบบของลูกอมฟันไม่ผุ

สกรีนการสั่นโรคพาร์กินสัน

นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทีมงาน ได้พัฒนาอุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายนาฬิกาใช้วัดการสั่นเพื่อวินิจฉัยโรคพาร์กินสันโดยเฉพาะ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรักษาให้กับแพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาท โดยสามารถใช้ทดแทนแบบประเมินทางคลินิก (UPDRS) ทำให้วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และรักษาได้ตรงตามอาการ

ผลงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในสถานพยาบาล 50-100 แห่ง โดยแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงเรื่องพาร์กินสัน ค่าตรวจเครื่องมือนี้ประมาณ 700 บาทสามารถเบิกจ่ายได้หมด ขณะที่ถ้าเป็นเครื่องนำเข้ามีราคา 1 ล้านบาท หากเครื่องนี้ทดสอบแล้วผ่านและพร้อมผลิตในเชิงพาณิชย์ ราคาต้นทุนจะอยู่แค่หลักหมื่นเท่านั้น

“ที่ผ่านมา อุปกรณ์วัดการสั่นได้มีผู้ประดิษฐ์และพัฒนามาแล้วหลายรุ่น แต่ที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ ยังไม่มี” นายแพทย์รุ่งโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจรักษา ทำการประเมินอาการสั่น ซึ่งโรคพาร์กินสันมีแบบแผนการสั่นที่จำเพาะ นอกจากนี้ยังมีการตรวจคัดครองเบื้องต้นหรือการประเมินทางคลินิกร่วมกับการใช้แบบประเมิน UPDRS โดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น ทำให้การประเมินถูกจำกัดเพียงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นโรงเรียนแพทย์เท่านั้น

ที่สำคัญ ประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทเพียง 400 คน ไม่เพียงพอต่อการให้การรักษา ซึ่งจากสถิติพบว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันได้รับการรักษากับแพทย์ทั่วไปถึง 82% ทำให้การวินิจฉัยโรคช้าหรือผิดพลาดบ่อยครั้ง จึงมั่นใจว่าสิ่งประดิษฐ์บนข้อมือดังกล่าวจะเป็นทางออกให้กับระบบสาธารณสุขไทย