แผนลับ 'เดนทัล คอร์ปอเรชั่น' สวยถูกใจ 'ขาใหญ่'

แผนลับ 'เดนทัล คอร์ปอเรชั่น' สวยถูกใจ 'ขาใหญ่'

เหตุใด...!! 'หุ้น เดนทัล คอร์ปอเรชั่น' จึงถูกใจสองนักลงทุนไซด์ใหญ่ 'ทพ.พรศักดิ์ ตันตาปกุล' ผู้ก่อตั้ง โชว์พันธกิจเอาใจแฟนคลับ เปิดแผน 5 ปี บุกธุรกิจโรงพยาบาลทันตกรรม ขึ้นแท่น 'พระเอก' ดันรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท

เป้าหมายการทำธุรกิจคือ 'ผู้นำธุรกิจทันตกรรมครบวงจรและเป็นเบอร์ 1 ในเมืองไทยและอาเซียน' ของ บมจ.เดนทัล คอร์ปอเรชั่น หรือ D ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางทันตกรรมแบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ BIDC , Dental Signature และ Smile Signature ที่มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 13 ปี ของ 'ตระกูลตันตาปกุล' สัดการถือหุ้น 55.73%

ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในเหตุผล ณ เวลานี้ที่ 'หุ้น D' กลายเป็นจุดสนใจของ 'สองนักลงทุนไซด์บิ๊ก' หากอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น D ที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะพบรายชื่อของ 'คเชนทร์ เบญจกุล' อดีตกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ VI ถือหุ้น 6,542,100 หุ้น คิดเป็น 3.27%  และ 'ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา' ถือหุ้น 5,399,000 หุ้น คิดเป็น 2.70%

ทำไม...!! 'เดนทัล คอร์ปอเรชั่น' จึงมี 'แรงดึงดูด' สองนักลงทุนให้ถือหุ้น D อย่างต่อเนื่อง 'ทันตแพทย์พรศักดิ์ ตันตาปกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดนทัล คอร์ปอเรชั่น หรือ D เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า นักลงทุนรายใหญ่จะขอ 'เข้าเยี่ยมชมกิจการ' (Company Visit) ทุกๆ ไตรมาส และหลังจากฟังข้อมูลใหม่กลับไปจะทยอยซื้อหุ้น D เติมพอร์ตตลอด ซึ่ง 'ดร.ไพบูลย์' จะบอกเสมอว่าเป้าหมายการลงทุนในหุ้น D ว่า 'ผมตั้งใจจะถือลงทุนในระยะยาว 5-10 ปี'  

โดยหลังเข้าระดมทุนผ่านมา 1 ปีกว่า (ซื้อขายวันแรก 3 มี.ค.2560) ราคาหุ้น D ปรับตัวขึ้นมา 'สูงสุด' 11.40 บาทต่อหุ้น (วันที่ 15 มิ.ย.2561) และราคา 'ต่ำสุด' อยู่ที่ 7.65 บาทต่อหุ้น โดยมีราคาเฉลี่ย 8.99 บาทต่อหุ้น จากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 6 บาทต่อหุ้น (เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2560) 

สำหรับแผนธุรกิจ 5 ปี (2560-2564) ธุรกิจที่จะเป็น 'ตัวบุก' และ เป็น 'พระเอก' นั่นคือ 'ธุรกิจโรงพยาบาลทันตกรรม' (BIDH)  เรือธงสู่ความสำเร็จของ 'เดนทัล คอร์ปอเรชั่น' ผู้ถือหุ้นใหญ่ย้ำให้ฟังเช่นนั้น...!! 

เป้าหมาย 5 ปี รายได้แตะ '2,000 ล้านบาท' โดยบริษัทมีแผนเปิดธุรกิจโรงพยาบาลทันตกรรมเอกชนเฉพาะทางปีละ 1 แห่ง 'หมอพรศักดิ์' มองว่าเมืองไทยจะมีโรงพยาบาลทันตกรรมได้มากสุดแค่ 4 แห่ง นั่นคือ กรุงเทพฯ ,เชียงใหม่ ,ภูเก็ต และพัทยา จังหวัดชลบุรี คาดว่าในต่างจังหวัดจะใช้เงินลงทุนแต่ละแห่งประมาณ 100-150 ล้านบาท 

โดย เริ่มต้นลงทุนกรุเทพฯ ก่อน ซึ่งเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลทันตกรรมเอกชนเฉพาะทางจำนวน 7 ชั้น ตั้งอยู่ย่านเพลินจิต มูลค่า 450 ล้านบาท คาดว่าเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2562โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ และชาวไทยที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงบน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทก้าวขึ้นมาเป็น 'เบอร์1' ของเมืองไทย และมีรายได้-กำไรในช่วง 5 ปีข้างหน้า มีอัตราการเติบโตอย่าง 'ก้าวกระโดด' อีกด้วย 

'ธุรกิจโรงพยาบาลทันตกรรมเฉพาะทาง เราถือว่าเป็นการขยายการบริการทันตกรรมให้กว้างขึ้นจากเดิม'  

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแจกแจงต่อว่า บริษัทมีวิชั่นตั้งแต่ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น นั่นคือ 'ดำเนินธุรกิจทันตกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ' ภายใต้การขยายการลงทุนใน 3 ธุรกิจ 'BIDC' คือ ธุรกิจให้บริการด้าน ทันตกรรมครบวงจร 'BIDH' ธุรกิจโรงพยาบาลทันตกรรม และ 'DAT' ธุรกิจให้บริการงานแล็บทางทันตกรรม

'สเต็ปแรก' การเป็นผู้ประกอบการให้บริการด้านทันตกรรม ภายใต้สโลแกน 'เราสร้างรอยยิ้ม เพื่อบ่งบอกความเป็นคุณ' ด้วยคลินิกทันตกรรมของกลุ่มบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO  9001:2008 ด้านการให้บริการทางทันตกรรมเต็มระบบ ประกอบด้วย ศูนย์ทันตกรรม BIDC ศูนย์ทันตกรรม สไมล์ซิกเนเจอร์รัชดาภิเษก และศูนย์ทันตกรรม BIDC ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI Accreditation จากประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยบริษัทมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มปีละ 4-5 สาขา ซึ่งในปีนี้บริษัทมีสาขาเพิ่มไปแล้ว 3 สาขา จากการเข้าซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) 3 คลินิกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภายใต้แบรนด์ Dental Planet  ด้วยเงินลงทุน ประมาณ 32 ล้านบาท ซึ่งบันทึกรายได้เข้ามาตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา 

ดังนั้น ครึ่งปีหลังบริษัทจะขยายสาขาเพิ่มอีก 1 แห่ง คาดว่าจะเป็น 'จังหวัดเชียงใหม่' เนื่องจากลักษณะจังหวัดเชียงใหม่จะมีลูกค้าคล้ายๆ ที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยจังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับฐานลูกค้าของบริษัทที่มีเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว 50% และคนไทย 50% 

ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ทันตกรรม และคลินิกทันตกรรมทั้งหมด 16 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จำนวน 14 สาขา และภูเก็ต 2 สาขา ดำเนินการภายใต้แบรนด์ BIDC จำนวน 1สาขา , Dental Signature จำนวน 4 สาข , Smile Signature จำนวน 8 สาขา และล่าสุด Dental Planet จำนวน 3  และมีค่าใช่จ่ายตัวบิลเฉลี่ยประมาณ 7,500 บาทต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยประมาณ 7,000 บาทต่อครั้ง   

'หมอพรศักดิ์' เล่าต่อว่า สำหรับ 'สเต็ปสอง' คือ การเข้าสู่ 'ธุรกิจต้นน้ำ' ด้วยการเข้าซื้อกิจการของ 'บริษัท เด็นตัล วิชั่น จำกัด หรือ DV' มูลค่า 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุ และอุปกรณ์ด้านทันตกรรม อาทิ IVOCLAR VIVADENT (แบรนด์สินค้าเกี่ยวกับวัสดุทำโครงฟัน,เครื่องเผา) KAVO (แบรนด์สินค้า เก้าอี้ทันตกรรม) JOTA (แบรนด์สินค้า หัวเบอร์กรอฟัน) VOCA (แบรนด์สินค้า วัสดุอุดฟัน) และ AMANN GIRRBACH (แบรนด์สินค้าวัสดุและเครื่องทำโครงฟันปลอม) เป็นต้น 

โดย เมื่อปีที่แล้ว DV มีรายได้ประมาณ 450 ล้านบาท การเข้าเทคโอเวอร์เพื่อเป็นการต่อยอดจากธุรกิจให้บริการด้านทันตกรรม รวมทั้งเข้ามาช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และหนุนอัตรากำไรขั้นต้นกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้นด้วย คาด 1 ส.ค. นี้ กระบวนการซื้อกิจการจะเรียบร้อย 

'สเต็ปสาม' เป็นธุรกิจต้นน้ำตัวที่สอง คือ ธุรกิจให้บริการงานแล็บทางทันตกรรม ดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท เดนทัล ออล (ประเทศไทย) จากัด หรือ DAT โดยเบื้องต้นให้บริการด้านทันตกรรมประดิษฐ์ที่ทำจากการวัสดุประเภทเซรามิค เช่น การทาฟันเทียม ครอบฟัน และสะพานฟัน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการดาเนินงานของศูนย์ทันตกรรมและคลินิกทันตกรรมของกลุ่มบริษัทจะเป็นการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านแล็บทันตกรรม 

ปัจจุบัน DAT มีแล็บทันตกรรมอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อให้บริการด้านแล็บทันตกรรมให้กับสาขาที่ภูเก็ต 2 สาขา และมีแล็บทันตกรรมที่ชั้น 7 ของอาคารศูนย์ทันตกรรม BIDC อีกหนึ่งแห่ง (เปิดให้บริการปี 2559) เพื่อเป็นหน่วยสนับสนุนให้กับสาขาต่างๆ ที่กรุงเทพฯ 

ทั้งนี้ ในแผนธุรกิจบริษัทกำลังศึกษาการลงทุนในธุรกิจบริการงานแล็บทางทันตกรรม 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก คือ 'การขยายห้องแล็บเดิม' ให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มบุคลากร จากปัจจุบันห้องแล็บสามารถซัพพอร์ตธุรกิจในกลุ่มได้แค่ 5-10% เท่านั้น หลักๆ คือซัพพอร์ตที่สาขาจังหวัดภูเก็ต 

และแนวทางที่สอง คือ 'การซื้อกิจการห้องแล็บ' ซึ่งตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด โดยเมืองไทยมีจำนวนคลินิกและแผนกทันตกรรมในโรงพยาบาลราว 6,000 แห่งทั่วประเทศ และมีบริษัทดำเนินธุรกิจบริการงานแล็บทันตกรรม 50 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทบริการงานแล็บที่ได้มาตรฐานไม่เกิน 20 แห่ง 

อย่างไรก็ตาม คลินิกส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีห้องแล็บเป็นของตัวเอง หลักๆ นิยมส่งให้บริษัทบริการงานแล็บทางทันตกรรมเป็นคนทำให้มากกว่า ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโอกาสขยายการลงทุนเข้าไปเพราะว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากและเป็นธุรกิจที่มีมาร์จินระดับสูง ยิ่งหากบริษัทสามารถทำให้กับต่างประเทศได้

'ตอนนี้เราอยู่ระหว่างกำลังมองหาบริษัทที่ประกอบธุรกิจห้องแลบที่มีรายได้และกำไรเติบโตในระดับที่ดีอยู่ ซึ่งในเมืองไทยมีผู้ประกอบการห้องแล็บ 100 ราย แต่ที่มีมาตรฐานไม่เกิน 20 แห่ง ซึ่งปัจจุบันเราก็ดูเบอร์ 1 หรือ 2 ในตลาดอยู่'    

อย่างไรก็ตาม การมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถือว่าเป็นการ 'ผนึกกำลัง' (Synergy) กันในกลุ่มบริษัทเพื่อเป็นการลดต้นทุน และมีรายได้เสริมใหม่ๆ เข้ามา เพราะว่าบริษัทที่ซื้อกิจการมานั้น จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนต่ำลง และแต่ละธุรกิจก็มีรายได้เป็นของตัวเองด้วย 

นอกจากนี้ บริษัทศึกษาการลงทุนในตลาด 'ต่างประเทศ' ด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมา ,กัมพูชา และ ลาว โดยเฉพาะในเมียนมาเนื่องจากมีกำลังซื้อสูง เห็นได้จากปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าต่างชาติ 50% ของบริษัท เป็นกลุ่มลูกค้า CLM (เมียนมา , ลาว และกัมพูชา) สัดส่วนอยู่ที่ 5% จากเดิมมีไม่ถึง 1%

แต่ว่าเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนมากขึ้น หากบริษัทจะเข้าไปลงทุนคาดว่าจะเป็นการจอยเวนเจอร์กับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งกำลังดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสมแต่คงไม่ใช่ในปีนี้แน่นอน แต่อยู่ในแผน 5 ปีของบริษัท 

ขณะที่ แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ ตั้งเป้ารายได้ 500 ล้านบาท หลังจากบริษัทซื้อกิจการคลินิกทันตกรรมจำนวน 3 แห่ง และ  และซื้อธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุ และอุปกรณ์ด้านทันตกรรม เข้ามาคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 

ท้ายสุด 'หมอพรศักดิ์' ทิ้งท้ายว่า เราอยากเห็นธุรกิจ 'เดนทัล คอร์ปอเรชั่น' ไปยืนเบอร์ 1 ในเมืองไทยและอาเซียน ปัจจุบันในเมืองไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดแค่ 1% แต่มองเป็นโอกาสอีกมาก สะท้อนจากมูลค่าอุตสาหกรรม ระดับ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรามีรายได้แค่ 500 ล้านบาท คิดเป็น 1% ฉะนั้น เค้กก้อนนี้ยังมีอีกมหาศาล...!