ก.เกษตรฯขยายผลศาสตร์พระราชา 'โคกหนองนาโมเดล' สู่ราษีไศล

ก.เกษตรฯขยายผลศาสตร์พระราชา 'โคกหนองนาโมเดล' สู่ราษีไศล

ก.เกษตรฯ นำศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” มาร่วมบูรณาการ แก้ปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา หวังให้เกิดความมั่นคงในอาชีพการเกษตร สามารถ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรม ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง (โคก หนอง นา โมเดล) ในระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน เครือข่ายทามมูน ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ จากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา จึงได้ให้น้อมนำศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ บูรณาการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่อาชีพการเกษตรและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยจะจัดรูปแบบการเกษตรแบบโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเกษตรกรจะได้รูปแบบการทำการเกษตรที่ผสมผสานครบวงจรเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการจัดอบรมโครงการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของอาสาสมัครประจำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูนในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเพื่อต้องการพัฒนาระบบข้อมูลด้านการเกษตรตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนขยายแนวคิดหลักการปฏิบัติ และการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดลตามศาสตร์พระราชา

20180715174704716

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นแนวคิดและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพชีวิตของคนไทยที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นรากฐานของสังคม โดยได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรผสมผสานกับ ภูมิปัญญาพื้นบ้านได้อย่างสอดคล้อง โดยนำมาปรับเป็นคำพูดที่ง่ายต่อการเข้าใจแล้วนำไปสอน และถ่ายทอดแก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อพื้นฐานชีวิตมีความมั่นคงแล้ว ชีวิตคนไทยจึงจะมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

“การแก้ปัญหาผลกระทบของเขื่อนทั้ง 2 แห่งที่ยืดเยื้อมานานถึง 25 ปีหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จ แม้ปัญหาบางส่วนได้รับการแก้ไขไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีปัญหาบางส่วนที่ยืดเยื้อมานานจะต้องแก้ปัญหาด้วยความรักและอะลุ่มอล่วยต่อกัน โดยต้องให้ประชาชนดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยการหันหน้าเข้าหากัน มาทำงานและหาทางออกร่วมกัน ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ที่ได้ร้บผลกระทบ ซึ่งจะพยายามแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน” วิวัฒน์กล่าวยืนยัน

ชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า สำหรับเขื่อนราษีไศลนั้นได้สร้างปิดกั้นแม่น้ำมูลที่ ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จนแล้วเสร็จและทำการเก็บกักน้ำในเดือนตุลาคม 2536 เป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดความสูง 9 เมตร ปิด-เปิดด้วยบานประตูเหล็ก 7 บาน ควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิก และมีการก่อสร้างคันดินกั้นสองฝั่งน้ำ ระดับหลังคัน +120 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) เพื่อกันพื้นที่น้ำหลากท่วมสองฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางรวม 45.8 กิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำได้ประมาณ 74.43 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเก็บกักน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ทำกินของราษฎรทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำ ที่เรียกว่า พื้นที่ทาม ต่อมาเขื่อนดังกล่าวได้โอนมาให้กรมชลประทานรับผิดชอบ และเข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2560 ได้อนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ในแปลงที่ดินที่ผ่านความเห็นชอบการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบระดับจังหวัดจำนวน 54 แปลง เนื้อที่ 86 ไร่ ในอัตราไร่ละ 32,000 บาท แต่ก็ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประโยชน์และความทับซ้อนของที่ดิน

“ระหว่างการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการทำเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงได้นำการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา โคก หนองนา โมเดล มาขยายผลบูรณาการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี(ห้วยโสมง) จ.ปราจีนบุรี และบริเวณลุ่มน้ำป่าสักที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเริ่มขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าใจศาสตร์พระราชา สามารถร่วมกันบูรณาการพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน" ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวในตอนท้าย