พนัสฯจับมือสวทช. ปั้นสตาร์ทอัพโลจิสติกส์

พนัสฯจับมือสวทช. ปั้นสตาร์ทอัพโลจิสติกส์

“พนัส แอสเซมบลีย์” ผู้นำตลาดธุรกิจขนส่งในไทยเตรียมรับการมาของคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์คือ ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการพัฒนายานยนต์ต้นแบบกระทั่งสำเร็จ พร้อมทั้งตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะเริ่มนำมาใช้ในกิจการขนส่ง

ทั้งยังเป็นภาคเอกชนรายแรกที่เดินหน้าสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการขนส่ง รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ หรือ LogTech โดยจับมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดประกวดแนวคิดธุรกิจและโครงการด้านธุรกิจโลจิสติกส์ ครั้งที่ 2 เฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนาและสุดยอดไอเดียที่ตอบสนองอุตสาหกรรมการขนส่งของประเทศหรือระดับภูมิภาคต่อไป

ตัวอย่างผลงานประกวดระดับรางวัลครั้งที่ผ่านมา เช่น ระบบการจัดการการเดินทางโดยรถขนส่งมวลชน, ระบบะจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม, Smart Wheel แนวคิดนวัตกรรมล้อรถที่ออกแบบมาเพื่อทุกสภาพพื้นผิวบนท้องถนน โดยยางของล้อรถแบบอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีนาโน และ ใช้ระบบสั่งการในรูปแบบของไอโอที

EV ในอุตฯ โลจิสติกส์

พนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกนวัตกรรมที่บริษัทเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในการพัฒนารถต้นแบบเพื่อใช้งานเฉพาะด้านในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

“เราให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการขนส่งมาโดยตลอด เทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ของโลก และตอบความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เตรียมแผนรองรับ โดยยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะเริ่มใช้ยานยนต์ไฟฟ้านี้ในธุรกิจ”

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้โลกใกล้กันแค่ปลายนิ้ว การเจรจาและสั่งซื้อสินค้าเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นำไปสู่การผลักดันให้ระบบโลจิสติกส์ในปัจจุบันจำเป็นต้องพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างฉับไว ถือเป็นแรงเหวี่ยงให้ภาคธุรกิจด้านการขนส่งจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

บริษัทเริ่มก่อตั้งในปี 2512 ด้วยการนำไม้มาต่อประกอบเป็นรถกะบะบรรทุกหกล้อและสิบล้อ เพื่อใช้บรรทุกสินค้าทางการเกษตรและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด เช่น รถดัมพ์ รถพ่วง รถเทรลเลอตลอดจนดีไซด์ออกแบบและประกอบรถเพื่อการขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแบบรถมากกว่า 300 แบบที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ประกอบการขนส่ง ทำให้เป็นผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่ง

ปี 2561 ตั้งเป้ารายได้มากกว่า 1.6 พันล้านบาท หวังจะโตขึ้น 100 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา จากการบุกเจาะตลาดทุกเซกเมนต์ตลอดจนเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุปกรณ์สนามบิน รวมถึงมีรายได้จากตลาดออสเตรเลียที่เข้าไปทำธุรกิจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเริ่มมีรายได้ชัดเจนในปีนี้

ปั้นดาวเข้าวงการ

สำหรับโครงการเฟ้นหาไอเดียการพัฒนานวัตกรรมขนส่ง หรือ “Panus Thailand LogTech Award 2018” ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “Logistics Is Everything” เปิดกว้างรับทุกไอเดียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ แอพพลิเคชั่น หรือระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ รวมไปถึงการสร้างสรรค์พาหนะหรืออุปกรณ์สนับสนุนการขนส่งทั้งทางบก-อากาศ-น้ำรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงธุรกิจโลจิสติกส์เข้ากับธุรกิจอื่นๆ

“ปัจจุบัน มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาทหรือ 13% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเพียงการขนส่งสินค้า แต่หากรวมการขนส่งคนด้วย มูลค่าจะมากกว่านั้นอีกมาก ถือเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่มักมองว่า โลจิสติกส์เป็นระบบใหญ่ที่มีหลายภาคส่วนทำงานด้วยกัน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แต่เราอยากให้แนวคิดของโลจิสติกส์เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว พบได้ในชีวิตประจำวัน จึงกลายเป็นโจทย์สำหรับการแข่งขันในปีนี้” พนัส กล่าว

ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังเป็นสะพานเชื่อมสตาร์ทอัพในกลุ่ม LogTech ไปสู่องค์กรหรือบริษัทที่แสวงหานวัตกรรมในรูปแบบ Open Innovation อีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีทั้งการเรียนรู้ของเครื่องจักร (แมชชีนเลิร์นนิ่ง) ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ บิ๊กดาต้าและอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว แม่นยำ ในขณะเดียวกันก็ลดใช้แรงงานคนซึ่งจะขยับไปสู่การทำงานในระดับสูงขึ้น

แต่ที่น่าสนใจและจะเป็น Next Move สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์คือ ยานยนต์ไฟฟ้า เพราะไม่ต้องใช้น้ำมันและอยู่ในระดับราคาที่เริ่มจับต้องได้