ครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ข้อเรียกร้องพักหนี้ครู

ครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ข้อเรียกร้องพักหนี้ครู

รมว.ศธ. ชี้แจงครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยข้อเรียกร้องพักหนี้ครู

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีครูกลุ่มหนึ่งประกาศปฏิญญามหาสารคาม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 พร้อมนัดลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศกว่า 4.5 แสนคน ยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงประเด็นดังกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ชี้แจงแล้วว่าครูส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับถ้อยแถลงของปฏิญญาดังกล่าว พร้อมทั้งประสานไปยังธนาคารออมสินเพื่อสอบถามถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวที่อ้างว่าครู 4.5 แสนคนเห็นด้วยนั้นเป็นความจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานในหลายส่วนเพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินครู ทั้งการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สกสค. กับธนาคารออมสิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ดอกเบี้ยและเงินต้นลดลง รวมทั้ง สกสค.ไม่รับเงินสนับสนุนพิเศษ เพื่อนำไปให้ลูกหนี้ชั้นดีซึ่งมีอยู่เกินกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่ลูกหนี้กลุ่มวิกฤตมีจำนวนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ครูส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วย การจะมาอ้างว่าครู 4.5 แสนคนเห็นด้วยคงไม่ได้ แต่ในทางกลับกันข้อเรียกร้องดังกล่าวส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูโดยรวม จึงขอให้สังคมอย่าได้ตัดสินหรือเหมารวมว่าครูทุกคนจะมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับกลุ่มครูดังกล่าว ซึ่งกลุ่มที่ประกาศส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้ว

ต่อคำถามที่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ และเท่าที่ทราบครูกลุ่มนี้ถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนักจนล่าถอยออกไปเองแล้ว ส่วนจะมีการพิจารณาความผิดทางจริยธรรมครูหรือไม่นั้น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเป็นหน่วยงานที่ดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ทำหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ธนาคารออมสินทบทวนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนการค้ำประกันเงินกู้ได้โดยไม่ต้องใช้การค้ำประกันแบบเดิม อาทิ นำที่ดินหรือสินทรัพย์มาค้ำประกันแทน จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันหรือไม่ ซึ่งธนาคารออมสินก็ยินดีจะรับไปพิจารณาทบทวนต่อไป