เศรษฐกิจเอเชียเติบโตแข็งแกร่ง แม้ตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจเอเชียเติบโตแข็งแกร่ง แม้ตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

"เอดีบี" ชี้การเติบโตเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย ยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกในปี 2561 และ 2562 จะยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งทั่วทั้งภูมิภาค ถึงแม้ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้าจะเพิ่มมากขึ้น

รายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียปี 2561 ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook 2018 Supplement) ได้คาดการณ์การเติบโตของเอเชียและแปซิฟิกที่ร้อยละ 6 ในปี 2561 และร้อยละ 5.9 ในปี 2562 ซึ่งเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย (ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน) คาดว่าภูมิภาคจะเติบโตที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2561 และร้อยละ 6.4 ในปี 2562 ซึ่งเป็นการคาดการณ์เดียวกับเมื่อเดือนเมษายนเช่นกัน

“ถึงแม้ว่าความตึงเครียดทางการค้าจะยังคงเป็นข้อกังวลหลักสำหรับภูมิภาค แต่มาตรการปกป้องทางการค้าที่ได้ดำเนินการแล้วในปี 2561 ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการนำเข้าของประเทศเอเชียกำลังพัฒนา” กล่าวโดยนายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี “การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการคลังอย่างระมัดระวังจะช่วยให้เศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกได้ ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของภูมิภาคยังคงแข็งแกร่งต่อไป”

ในเอเชียตะวันออก การเติบโตกระเตื้องขึ้นในฮ่องกงและไต้หวัน ถึงแม้ว่าการประมาณการเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคจะยังคงอัตราเดิมที่ร้อยละ 6 ในปี 2561 และร้อยละ 5.8 ในปี 2562 สำหรับจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก คาดว่าจะเติบโตได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.6 ในปี 2561 และร้อยละ 6.4 ในปี 2562

ในขณะเดียวกัน เอเชียใต้นำโดยอินเดียยังคงเป็นอนุภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด เศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าปีงบประมาณ 2561 ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.3 และยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 7.6 ในปี 2562 อันเป็นผลจากระบบการเงินที่เข้มแข็งขึ้นและการปฏิรูปภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน ส่วนปากีสถานและบังคลาเทศ ภาคการเกษตรมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดและเกินความคาดหมายในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต

การคาดการณ์การเติบโตของเอเชียตะวันออกฉียงใต้ยังคงเหมือนเดิมที่ร้อยละ 5.2 ทั้งในปี 2561 และ 2562 โดยอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งยังคงเป็นปัจจัยหลักช่วยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และการลงทุนภาคเอกชนของเวียดนามที่แข็งแกร่งได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตในไตรมาสแรกของประเทศดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทยนั้น เอดีบีได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทย ซึ่งคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2561 แต่ยังคงประมาณการเศรษฐกิจของปี 2562 ไว้เหมือนเดิมที่ร้อยละ 4.1 โดยปัจจัยหลักในการปรับขึ้นการคาดการณ์ปี 2561 ดังกล่าวมาจากการกระเตื้องขึ้นของศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี อันเป็นผลจากการขยายตัวของทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก

เศรษฐกิจเอเชียกลางเติบโตได้อย่างดีเกินคาด ดังนั้น เอดีบีจึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2561 และจากร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 4.3 ในปี 2562 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรัสเซียช่วยกระตุ้นการเติบโตเกือบทั่วทั้งภูมิภาค คาซัคสถานซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง เติบโตได้ถึงร้อยละ 4.1 ในไตรมาสแรกของปี 2561 โดยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ดีเกินคาด รวมถึงการขยายการลงทุนในสินค้าที่ต้องสำรวจขุดเจาะ และการดำเนินแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่นำโดยภาครัฐ

ส่วนเศรษฐกิจในแปซิฟิก คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.2 ในปี 2561 และร้อยละ 3 ในปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจปาปัวนิวกินี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในแปซิฟิก ยังคงชะลอตัวอยู่ อันเป็นผลจากความผันผวนของการผลิตและการส่งออกก๊าซเหลวธรรมชาติและสินค้าส่งออกอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในรายงานฉบับนี้ ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2561 และร้อยละ 2.7 ในปี 2562 โดยปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การแทรกแซงของธนาคารกลางเพื่อหลีกเลี่ยงการอ่อนตัวของค่าเงินที่รุนแรง และการกลับมาอุดหนุนราคาอาหารและเชื้อเพลิงเพื่อควบคุมการขึ้นราคาสินค้าในบางประเทศ จะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้

เอดีบีซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงมะนิลา ได้อุทิศตนให้กับการลดปัญหาความยากจนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเติบโตแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการบูรณาการทางภูมิภาค เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2509 และมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 67 ประเทศ โดย 48 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค ในปีพ.ศ. 2560 การดำเนินงานของเอดีบีมีมูลค่ารวมทั้งหมด 32.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการให้กู้ร่วมจำนวน 11.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ