วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 ก.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 ก.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยว่า ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันชนิดกลางของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และ 8.8 จากสัปดาห์ก่อนหน้าตามลำดับ ส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันชนิดกลางปรับตัวลดลง 3.2 ล้านบาร์เรลและ 0.4 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ

- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรล ขึ้นไปแตะระดับ 411.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 3.6 ล้านบาร์เรล หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า

- นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและผู้ผลิตนอกกลุ่มยังได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง มิ.ย. 61 หลังอัตราการปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและผู้ผลิตนอกกลุ่มได้ปรับตัวลดลงเหลือร้อยละ 120 ในเดือนมิ.ย. 61 จากระดับร้อยละ 147 ในเดือนพ.ค. 61 โดยเป็นผลมาจากการประชุมในช่วงปลายเดือนมิ.ย. 61 ที่กลุ่มโอเปคและผู้ผลิตนอกกลุ่มตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อชดเชยในส่วนที่ขาดหายไปจากเหตุการณ์ไม่ปกติก่อนหน้านี้

- นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันตามเศรษฐกิจโลก หลังนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแคนซัส ซิตี้ เผยว่า ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้จากอินโดนีเซียและคูเวต อย่างไรก็ตามจีนยังมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันเบนซินมากขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูงจากการส่งออกของอินเดีย ประกอบกับอุปสงค์ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากยังคงอยู่ในฤดูมรสุม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 66-71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • แรงกดดันในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งคาดจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ล่าสุดทางจีนออกมาตอบโต้ว่าจะเตรียมออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในเร็วนี้
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ได้กลับมาทำการปกติอีกครั้ง หลังได้มีการประกาศเหตุสุดวิสัยในวันที่ 14 มิ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม ท่าเรือส่งออกน้ำมัน Ras Lanuf และ Es Sider ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงต้องมีปิดซ่อมบำรุงไปอีกระยะหนึ่ง
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาที่มีทิศทางปรับลดลง

---------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999